© copyright Lamaithailand 2003 All Rights Reserved บริษัท ละไม (ไทยแลนด์) จำกัด 299/783 สุขาภิบาล 5 แขวงสายไหม เขตสายไหม กรุงเทพฯ 10220 โทร. 086-970-8319, 081-988-3531, 095-163-6592 E-mail : info@lamaithailand.com |
พระราชวังสนามจันทร์ Sanam Chandra Palace
พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม ห่างจากกรุงเทพฯ ลงไปทางใต้ 56 กิโลเมตร บริเวณที่เป็นพระราชวังสนามจันทร์ อยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ ไปทางตะวันตกประมาณ 1 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในอาคารบริเวณซึ่งเดิมเรียกว่า เนินปราสาท สันนิษฐานว่า เดิมคงเคยเป็นพระราชวังของกษัตริย์ในสมัยโบราณ ใกล้กับเนินปราสาทมีสระน้ำใหญ่อยู่แห่งหนึ่งเรียกว่า สระน้ำจันทร์ อยู่หน้าโบสถ์พราหมณ์ ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระราชวังที่ประทับขึ้น ณ เมืองนครปฐม เป็นสถานที่สำหรับแปรพระราชฐานในโอกาสเสด็จฯ มาสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ และเพื่อประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ทรงเลือกจังหวัดนครปฐม ด้วยเหตุที่ทรงคุ้นเคยกับภูมิประเทศของเมืองนี้ ทรงเห็นว่าบริเวณเนินปราสาทนั้น ทำเลเหมาะ จึงได้จัดสร้างพระราชวังขึ้น แล้วทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หลวงพิทักษ์มานพ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนยศเป็น พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ ( น้อย ศิลปี ) เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นเมื่อพ.ศ. 2450 ซึ่งตรงกับปลายรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 การก่อสร้างพระที่นั่ง และพระตำหนักต่าง ๆ ได้ดำเนินการติดต่อกันนานถึง 4 ปี จึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2454 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงพระราชทานนามว่า พระราชวังสนามจันทร์ ภายในประกอบด้วยพระที่นั่งและพระตำหนักต่าง ๆ พระที่นั่งพิมานปฐม (Bhimarn Prathom Residence) เป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2450 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น แบบตะวันตก แต่ดัดแปลงให้เหมาะกับเมืองร้อน ช่องระบายลมและระเบียงลูกกรงโดยรอบฉลุเป็นลวดลายตามแบบไทยอย่างประณีตงดงาม ชั้นบนประกอบด้วยห้องต่าง ๆ คือ ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องบรรณาคม ห้องภูษา ห้องเสวย และห้องพระเจ้า ซึ่งเป็นหอพระ มีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาอยู่องค์หนึ่ง และยังมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังฝีมือพระยาอนุศาสน์จิตรกร(จันทร์ จิตรกร) ซึ่งงดงามมาก พระที่นั่งองค์ใช้เป็นที่ประทับ (โดยเฉพาะก่อนเสด็จฯ ขึ้นเถลิงถวัลราชย์สมบัติจนถึงปี พ.ศ.2458) ที่ทรงพระอักษร ที่เสด็จออกขุนนาง ที่รับรองพระราชอาคันตุกะ และออกให้ราษฎรเข้าเฝ้าฯ มากกว่าพระที่นั่งและพระตำหนักองค์อื่น พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ (Samakkeemukamartaya Hall) เป็นพระที่นั่งที่เชื่อมต่ออยู่กับพระที่นั่งวัชรีรมยา โดยมีโถงใหญ่และหลังคาของพระที่นั่งทั้งสององค์เชื่อมติดต่อกัน เครื่องประดับตกแต่งหลังคาเหมือนกัน แต่องค์พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ เป็นพระที่นั่งทรงไทยแบบศาลาโถงองค์ใหญ่ชั้นเดียว หน้าบันอยู่ทางทิศเหนือเป็นรูปจำหลักท้าวอมรินทราธิราชประทานพร ประทับอยู่ในพิมานปราสาทสามยอด พระหัตถ์ขวาทรงวชิระ พระหัตถ์ซ้ายประทานพร แวดล้อมด้วยบริวาร ประกอบด้วยเทวดาและมนุษย์ห้าหมู่ พระที่นั่งองค์นี้ สำหรับเป็นที่ออกงานสโมสรสันนิบาต เสด็จฯออกขุนนางเพื่อปรึกษาข้อราชการ เป็นที่อบรมกองเสือป่า และเป็นที่แสดงโขนละครต่าง ๆ พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ มีพื้นที่กว้างขวางจุคนได้มาก จึงมีชื่อเรียกติดปากชาวบ้านว่า โรงโขน พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ (Chaleemongkolasana Residence) มีลักษณะคล้ายปราสาทขนาดย่อม สถาปัตยกรรมแบบเรเนอซองส์ (Resnaissance)ของฝรั่งเศส ผสมผสานกับอาคารแบบฮาล์ฟ ทิมเบอร์ (Half Timbered) ของอังกฤษ แต่ดัดแปลงให้เหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2451 โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ ต่อมาในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงพระราชทานนาม ว่า พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนัก เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2460 พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เป็นพระตำหนักสองชั้น ทาสีไข่ไก่ หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดง ชั้นบนมีห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทม และห้องสรง ชั้นล่างทางทิศตะวันตก เป็นห้องรอเฝ้าฯ และเคยใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวในการออกหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตรายสัปดาห์ พระตำหนักแห่งนี้ พระองค์ทรงใช้เป็นที่ประทับในฐานะที่ทรงเป็นผู้บัญชาการเสือป่า เมื่อมีการซ้อมรบเสือป่า ณ พระราชวังสนามจันทร์ ด้านหน้าของพระตำหนักชาลีฯ มีอนุสาวรีย์ย่าเหล (Statue of Yalae) ซึ่งเดิมเป็นสุนัขของหลวงชัยอาญา ผู้ควบคุมนักโทษในขณะนั้น เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ตรวจเรือจำ ทอดพระเนตรเห็น และตรัสชมน่าเอ็นดู ต่อมาหลวงชัยอาญา จึงน้อมเกล้าฯ ถวาย จึงทรงรับมาเลี้ยงและพระราชทานนามว่า ย่าเหล ย่าเหล มีความเฉลียวฉลาด และมีความจงรักภักดี ได้รับการเลี้ยงดูอยู่ในราชสำนักใกล้ชิดพระยุคลบาท จนคืนหนึ่ง ย่าเหล ได้หนีเที่ยวตามวิสัยสัตว์ และได้กัดกับสุนัขอื่น ในบริเวณกรมทหาร มหาดเล็กรักษาพระองค์ และพลัดถูกลูกกระสุน ซึ่งทหารผู้หนึ่งได้ยิงปืนออกมาเมื่อได้ยินเสียงสุนัขกัดกัน และไม่ทราบว่าลูกกระสุนนั้นพลัดไปถูก ย่าเหล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เศร้าสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานศพให้ ย่าเหล พร้อมกับให้สร้างอนุสาวรีย์ ย่าเหล และทรงพระราชนิพนธ์คำไว้อาลัย ณ บริเวณด้านหน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ (Mareerajaratabulung Residence) ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2459 โดยสถาปนิกผู้ออกแบบคือ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นพระตำหนักสองชั้น สร้างด้วยไม้สักทอง ทาสีแดง มีสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคของทางตะวันตก มีฉนวนทางเดินทำเป็นสะพานข้ามคูน้ำเชื่อมต่อกับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ โดยทั้งพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ และสะพานเชื่อมพระตำหนักนั้น เป็นกลุ่มอาคารที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากบทละครเรื่อง My Friend Jarlet ซึ่งทรงแปลบทละครเรื่องนี้เป็นภาษาไทยชื่อว่า มิตรแท้ โดยทรงนำชื่อตัวละครในเรื่องมาเป็นชื่อของพระตำหนัก เทวาลัยคเณศร์ (Ganesa Shrine) ตั้งอยู่ที่สนามหญ้าหน้าพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวาลัยคเณศร์ เพื่อเป็นศาลเทพารักษ์สำหรับพระราชวังสนามจันทร์ เป็นที่ประดิษฐานพระคเณศร์ หรือพระพิฆเนศวร เทพเจ้าผู้มีเศียรเป็นช้าง ซึ่งเป็นเจ้าแห่งศิลปะวิทยาการ การประพันธ์ และเป็นผู้ขจัดอุปสรรคทั้งมวล พระองค์ทรงโปรดศิลปะวิทยาการและการประพันธ์เป็นพิเศษ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวาลัยคเณศร์ไว้ ณ ที่อันเป็นศูนย์กลางของพระราชวังสนามจันทร์ สำหรับบวงสรวง และเพื่อความเป็นสิริมงคลแห่งพระราชวังสนามจันทร์ และเมื่อมองจาก พระที่นั่งพิมานปฐมจะเห็นองค์พระปฐมเจดีย์ เทวาลัยคเณศร์ และ พระที่นั่งพิมานปฐมอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน พระตำหนักทับขวัญ ( Thub Kwan Residence ) เป็นเรือนไทยที่สมบูรณ์แบบ นายช่างผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง คือ พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ ( น้อย ศิลปี ) ประกอบด้วย กลุ่มเรือน 8 หลัง ได้แก่ เรือนใหญ่ 4 หลัง เรือนเล็ก 4 หลัง ซึ่งได้สร้างให้หันหน้าเข้าหากัน 4 ทิศ เรือนหลังใหญ่เป็นหอนอน 2 หอ อีก 2 หลังเป็นเรือนโถง และเรือนครัวซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน ส่วนเรือนเล็ก 4 หลังนั้น ตั้งอยู่ตรงมุม 4 มุมละ 1 หลัง ได้แก่ หอนก 2 หลัง เรือนคนใช้ และเรือนเก็บของ เรือนทุกหลังมีชานเรือนเชื่อมกันโดยตลอด บริเวณกลางชานเรือนปลูกต้นจันไว้ให้ร่มเงา พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อรักษาศิลปะแบบบ้านไทยโบราณ พระตำหนักทับขวัญ เป็นเรือนไม้กระดาน ฝาเรือนทำเป็นฝาปะกนกรอบลูกฟัก ฝีมือประณีต เชิงชายและไม้ค้ำยันสลักเสลาสวยงาม หลังคาแต่เดิมมุงด้วยจาก หลบหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา ตัวเรือนทุกหลังรวมทั้งพื้นนอกชานทำด้วยไม้สักล้วน ใช้วิธีเข้าไม้ตามแบบฉบับของชาวไทยโบราณ รอบ ๆ บริเวณปลูกไม้ไทยชนิดต่าง ๆ นับเป็นเรือนที่อยู่ในประเภทเรือนคหบดีและมีส่วนประกอบครบ
พระราชวังสนามจันทร์ โทร. 034-244 236-7 โทรสาร 034-244 235 เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 09.00-16.00 น. เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ มีการแสดงนาฏศิลป์ไทยให้ชม วันละ 1 รอบ เวลา 14.00 น. กรุณาแต่งกายสุภาพในการเข้าชมวัง มีบริการให้เช่ารถจักรยาน และรถกอล์ฟ ขับเที่ยวชมภายในบริเวณวัง
|