© copyright Lamaithailand 2003 All Rights Reserved บริษัท ละไม (ไทยแลนด์) จำกัด 299/783 สุขาภิบาล 5 แขวงสายไหม เขตสายไหม กรุงเทพฯ 10220 โทร. 086-970-8319, 081-988-3531, 095-163-6592 E-mail : info@lamaithailand.com |
Madagascars Seven Wonders 7 สิ่งมหัศจรรย์ มาดากัสการ์ ก่อนที่จะนำท่านผู้อ่านมาพบกับ 7 สิ่งมหัศจรรย์ ของมาดากัสการ์ ผมขอนำท่านมาทำความรู้จักกับประเทศมาดากัสการ์คร่าว ๆ กันก่อนครับ ชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐมาดากัสการ์ (Republic of Madagascar) เป็นประเทศที่มีลักษณะเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทางตะวันออกของแอฟริกา ใกล้กับประเทศโมซัมบิค มีพื้นที่ประมาณ 226,957 ตารางไมล์ เมืองหลวงชื่อ กรุงอันตานานาริโว มีประชากรกว่า 22 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่ นับถือศาสนาคริสต์ ส่วนศาสนาอิสลาม พราหมณ์ ฮินดู มีนับถือบ้างเป็นส่วนน้อย ลดหลั่นกันลงไป ภาษาที่ใช้สื่อสารในประเทศมีหลายภาษา อาทิ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อาหรับ และมาลากาซ๊ ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นดั้งเดิม มาดากัสการ์เคยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเมื่อปีพ.ศ. 2439 และได้รับเอกราชในปีพ.ศ. 2503 เอาล่ะครับ เรามาว่ากันด้วยเรื่อง 7 สิ่งมหัศจรรย์ บนเกาะมาดากัสการ์ (Madagascars Seven Wonders) ตามหัวข้อเรื่องกันดีกว่าครับ เกาะแห่งนี้มักสร้างความแปลกใจและตื่นตะลึงให้แก่ผู้มาเยือนเสมอ ๆ ด้วยลักษณะพิเศษทางภูมิศาสตร์ที่มีความโดดเด่นในหลากหลายด้าน ทั้งทางด้านธรณีวิทยา พรรณพืช และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้
1 ต้นเบาบับ ( Baobab ) พืชชนิดนี้ ชื่อก็แปลก ลักษณะต้นยังแปลกอีกด้วยครับ เรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของมาดากัสการ์เลยทีเดียว ต้นเบาบับขนาดโตเต็มที่อาจมีความสูงถึง 25 เมตร และแผ่รัศมีกิ่งก้านออกจากลำต้นได้ถึง 7 เมตร เป็นต้นไม้พิเศษที่มีอายุยืนยาวนับพันปี มีถึง 9 สายพันธุ์ แต่ละพันธุ์ก็มีแหล่งเติบโตในที่ต่างกัน ส่วนใหญ่มักขึ้นบริเวณเส้นศูนย์สูตร เช่นที่ทวีปแอฟริกา แต่บางพันธุ์อาจพบได้ที่ทวีปออสเตรเลีย และมีถึง 6 สายพันธุ์ที่สามารถพบได้ที่มาดากัสการ์ที่เดียวในโลก ลำต้นอันอวบอัดของเจ้าเบาบับสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ถึง 120,000 ลิตร ซึ่งเอาไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง ดังนั้นเบาบับมันถึงมีอายุยืนเป็นพันปีไงครับ ชาวแอฟริกันบางประเทศ นำใบสด ๆ ของเบาบับมารับประทาน บ้างก็นำมาใส่ในน้ำซุป บ้างนำมาเป็นยาสมุนไพร ส่วนผลเบาบับก็รับประทานได้เหมือนผลไม้ทั่วไป ท่านผู้อ่านสามารถเดินทางไปชมต้นเบาบับ ต้นไม้มหัศจรรย์ได้ที่ ถนนสายเบาบับ อยู่ที่โมรอนดาวา เมืองทางตะวันตกและเมืองทูเลียร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมาดากัสการ์ครับ 2 ลีเมอร์ ( Lemur ) เจ้าสัตว์พิสดารชนิดนี้ มีรูปร่างหน้าตาละม้ายคล้ายหมีผสมลิง (ผมคิดเอาเองนะครับ) ซึ่งจริง ๆ แล้วเจ้าตัวลีเมอร์นี้จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับลิง นั่นแหละครับ แต่เพราะมีหลากหลายชนิด รูปร่างหน้าตาก็เลยแตกต่างกันออกไป มีทั้งขนาดใหญ่เกือบเท่าคน ที่เรียกว่า อินดรี อินดรี้ และขนาดเล็กเท่าหนู เรียกว่า เมาส์ลีเมอร์ สัตว์ชนิดนี้พบได้ที่มาดากัสการ์แห่งเดียวในโลกเท่านั้น โดยปกติแล้วเจ้าลีเมอร์จะมีนิสัยไม่ซุกซนเหมือนลิงทั่วไป แต่ออกจะเชื่องช้าซะมากกว่า การเดินทางไปชมเจ้าลีเมอร์อย่างใกล้ชิดได้ที่ อุทยานแห่งชาติอันดาสิเบ อยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงกรุงอันตานานาริโวเท่าไรนัก รับรองว่าใครได้ไปหยอกเย้ากับเจ้าลีเมอร์นี้ต้องหลงใหลในความน่ารักของมันแน่นอน 3 กิ้งก่าคามีเลียน (Cameleon ) ในโลกนี้มีกิ้งก่าคามีเลียนอยู่กว่า 130 สายพันธุ์ แต่เกือบครึ่งหนึ่งสามารถพบได้ที่มาดากัสการ์แห่งเดียวเท่านั้น เราจึงนับเอาเจ้ากิ้งก่าคามีเลียนสีสันฉูดฉาดบาดตานี้รวมไว้ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ บนเกาะมาดากัสการ์ด้วย กิ้งก่าคามีเลียนมีลักษณะพิเศษคือ ผิวหนังที่เปลี่ยนสีได้ตามอารมณ์ โดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ จะมีสีสันสวยงามเป็นพิเศษ ขนาดของมันมีตั้งแต่ 8 12 นิ้ว เคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า แต่ตวัดลิ้นได้รวดเร็ว เพื่อจับเหยื่อพวกแมลงชะตาขาด หน้าตาของมันไม่ค่อยแสดงอารมณ์ จะเรียบเฉยอยู่ตลอดเวลา แต่เราจะสังเกตอารมณ์ของมันจากสีของผิวหนังนั่นเอง เช่น ในภาวะอารมณ์ปกติ ผิวหนังจะเป็นสีเขียว แต่เมื่อมันโกรธหรือตกใจ ผิวหนังจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาล จุดเด่นของคามีเลียนอีกอย่างคือ หางของมันที่ม้วนขดเป็นเกลียวอย่างสวยงาม เอาไว้ใช้ยึดเกาะกิ่งไม้ ดวงตาของมันก็กวัดแกว่งไปมาโดยที่ตาข้างหนึ่งใช้มองด้านหน้า อีกข้างหนึ่งก็มองไปด้านหลังได้ในเวลาเดียวกัน เป็นความสามารถพิเศษเฉพาะตัว ห้ามลอกเลียนแบบนะครับ กิ้งก่าคามีเลียนมีนิสัยไม่ดุร้าย แวะไปชมมันได้ที่ฟาร์มมาโรเซโว อยู่ใกล้กับเมืองหลวงกรุงอันตานานาริโว 4 ซิงงี ( Tsingy ) มรดกโลกทางธรรมชาติอันน่าตื่นตาของมาดากัสการ์ ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันตกของเกาะ เรียกว่า ซิงงี แห่งเบมาราฮา ซิงงี เป็นคำเรียกในภาษามาลากาซี แปลว่า เสียงที่เกิดจากการเคาะหิน มีลักษณะคล้ายเสียงระฆังร้าว ซิงงี คือภูมิประเทศที่เรียกว่า คาร์สท์ ( Karst ) เป็นเสาหินปูนที่ถูกพายุฝนกัดเซาะนานนับพันปี โดยเฉพาะบริเวณด้านบนของหินที่มีความอ่อน ดังนั้นรูปร่างหน้าตาของหินปูน จึงเป็นแท่งแหลมและสูง บางแท่งมีลักษณะบางเฉียบและแหลมคมราวกับใบมีดโกน ชาวมาลากาซี บอกว่า ที่ในซิงงี ไม่มีที่ราบพอที่จะวางเท้าได้เลย แม้สักเท้าเดียว เสาหินเหล่านี้กระจัดกระจายไปทั่วบริเวณกว้าง ถูกแซมด้วยพืชจำพวก มะเดื่อ ปาล์ม และเบาบับ ถ้าใครตาดีก็จะได้เห็นเจ้าตัวลีเมอร์อาศัยซุกซ่อนอยู่ในบริเวณซิงงีด้วย หากไม่ถนัดเรื่องปีนป่าย ก็สามารถนั่งเครื่องบินชมสิ่งมหัศจรรย์นี้ได้จากบนฟ้า ในมุมมองสูงซึ่งเป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่ง ยังมีซิงงีอีกแห่งหนึ่ง อยู่ที่อุทยานแห่งชาติอันคารานา ทางตอนเหนือของมาดากัสการ์ เรียกว่า ซิงงีสีแดง (Red Tsingy ) เนื่องจากหินที่ถูกฝนกัดเซาะเป็นหินศิลาแลงมีสีแดง ก็เป็นความสวยงามอีกแบบหนึ่งครับ 5 ชาวมาลากาซี ( Malagasy People ) ไม่เคยมีหลักฐานบ่งชัดว่า ต้นกำเนิดของชาวมาลากาซีที่อาศัยอยู่บนเกาะมาดากัสการ์มาจากที่ใดกันแน่ แต่นักมานุษยวิทยา สันนิษฐานว่า ชาวอินโดนีเซียนั่นเองที่อพยพมาจากเกาะบอร์เนียว มาจับจองพื้นที่บนเกาะแห่งนี้เมื่อกว่า 2,000 ปีมาแล้ว หาใช่ชาวแอฟริกันไม่ บ้างก็เชื่อว่า ทั้งชาวอินโดนีเซียและแอฟริกัน ต่างก็เดินทางมายังเกาะที่ถือว่าห่างไกลที่สุดเกาะหนึ่งบนโลก แล้วก็มีการผสมผสานระหว่างสายพันธุ์กัน จึงเกิดมีลูกครึ่งหน้าตาแบบชาวมาลากาซีปัจจุบัน หลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนที่บ่งบอกที่มาของชาวมาลากาซี ก็คือภาษามาลากาซีนั่นเอง ว่ากันว่าภาษานี้คล้ายคลึงกับภาษาพูดบนเกาะบอร์เนียว และยังมีวัฒนธรรมด้านการเพาะปลูก และความเชื่อด้านการนับถือบรรพบุรุษ ก็มาจากอินโดนีเซีย ส่วนวัฒนธรรมด้านการเลี้ยงสัตว์นั้นมาจากแอฟริกา ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาลูกครึ่งทั้งหลาย บางคนก็อาจมีเชื้อสายอาหรับอีกด้วย เพราะเชื่อว่าชาวอาหรับนั้นก็เป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่เดินทางมาตั้งรกรากที่นี่ สังเกตได้จากวัฒนธรรมการค้าขาย และภาษาอาหรับที่ใช้เรียกชื่อ วัน เดือน และหน่วยเงิน รวมถึงเครื่องดนตรีต่าง ๆ ปัจจุบันมีชาวพื้นเมืองกว่า 20 เชื้อสาย อาศัยอยู่บนเกาะนี้ พวกที่หน้าตาละม้ายไปทางอินโด-แอฟริกัน จะอาศัยอยู่บนที่ราบสูง ส่วนพวกที่สืบเชื้อสายอาหรับ จะรวมตัวกันอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออก 6 วาฬหลังค่อม ( Humpback Whale ) ทุกปีระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน ที่ชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาะมาดากัสการ์ บริเวณที่เป็นช่องแคบระหว่างเกาะใหญ่กับเกาะเซนต์มารี วาฬหลังค่อมเกือบ 500 ตัวจะอพยพหนีน้ำเย็นมาจากขั้วโลกใต้มาสู่ช่องแคบแห่งนี้ ซึ่งมีอุณหภูมิน้ำที่อุ่นกว่า เพื่อผสมพันธุ์และออกลูก ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักถึง 35 ตัน ลำตัวยาว 15 เมตร นักท่องเที่ยวจึงนิยมล่องเรือมารอชมการปรากฏตัวของวาฬหลังค่อมเหนือน้ำทะเล ซึ่งเป็นภาพประทับใจ ที่ผู้มาเฝ้ารอชมแทบหยุดหายใจ เมื่อได้ยินเสียงดังฟู่ ๆ พร้อมกับน้ำพุสูงประมาณ 3 เมตรพุ่งขึ้นเหนือผิวน้ำ จากนั้นเพียง 2-3 วินาทีต่อมา ท่อนหัวและกระโดงเดี่ยวบนหลังก็จะปรากฏขึ้นสู่ผิวน้ำ ก่อนที่จะมุดกลับลงไป เหลือส่วนหางโบกสะบัดทักทายผู้มาเยือน วาฬบางตัวกระโดดพุ่งตัวขึ้นเหนือน้ำโชว์สรีระ เรียกว่า Breaching ก่อนจะทิ้งตัวลงสู่ผืนน้ำอย่างสวยงาม สามารถเรียกเสียงกรี๊ดกร๊าดและเสียงปรบมือจากผู้ชมได้มากทีเดียว ที่จริงแล้ว การที่วาฬทำเช่นนั้น เพียงเพื่อต้องการสลัดปลิงและเพรียง ให้หลุดออกจากลำตัวของมันนั่นเองครับ ปัจจุบันวาฬหลังค่อมมีจำนวนลดลงจนน่าใจหาย ทางการมาดากัสการ์จึงออกกฎคุมเข้ม ไม่ให้เดินเรือเข้าไปใกล้ฝูงวาฬมากเกินไป นอกจากให้มันว่ายน้ำเข้ามาหาเราเอง 7 ชายทะเล ( Coastal Hideaways ) ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเกาะขนาดใหญ่อันดับสี่ของโลก มาดากัสการ์จึงมีหาดทรายชายทะเลที่งดงาม น้ำทะเลใสสะอาดราวกับแก้วคริสตัล เรียกได้ว่าเป็นหาดสวรรค์แห่งมหาสมุทรอินเดีย นักท่องเที่ยวนิยมไปพักผ่อนชายทะเล ท่ามกลางความสวยสงบเป็นธรรมชาติ รวมถึงเกาะเล็กเกาะน้อยที่แวดล้อมเกาะแม่อยู่หลายเกาะ อาทิ เกาะโนซีเบ และเกาะเซนต์มารีที่ไปดูวาฬหลังค่อมกันนั่นแหละครับ บริเวณนอกชายฝั่งมาดากัสการ์ หลายแห่งก็เป็นแหล่งดำน้ำดูปะการังที่อุดมสมบูรณ์ ดังนั้นชายทะเลของเกาะมาดากัสการ์ จึงสวยงามไม่แพ้ที่ใดในโลก ท่านผู้อ่านครับ ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจบนเกาะมหัศจรรย์แห่งนี้ อีกอย่างหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากของที่นี่คือเหมืองพลอย ดังนั้นจึงมีพ่อค้าพลอยชาวไทยจำนวนมากเดินทางมาเลือกซื้อพลอยกันถึงที่นี่ ซึ่งเป็นพลอยที่ยังไม่ได้เจียระไน ถ้าตาดีเลือกพลอยเป็น ก็จะได้พลอยดีคุณภาพสูง พอนำมาเจียระไนแล้วขายต่อจะได้ราคาสูง บางทีท่านเดินอยู่ในย่านการค้า ก็อาจมีพ่อค้าพลอยชาวมาลากาซี ยื่นพลอยมาเสนอขายท่าน หรือชักชวนให้ไปดูที่ร้านพลอย ยังไงท่านผู้อ่านก็ลองพิจารณาดูก็แล้วกันนะครับว่าควรซื้อหรือไม่ซื้อ หากท่านมีโอกาสได้มาท่องเที่ยวเกาะมาดากัสการ์ ก็อย่าพลาด 7 สิ่งมหัศจรรย์บนเกาะสวรรค์แห่งนี้นะครับ ขอขอบคุณข้อมูล : Air Madagascar |