ReadyPlanet.com
ละไม มิวสิค
ละไม ไทยแลนด์
ละไม วาไรตี้
ละไม ต่างแดน
เกี่ยวกับเรา
ติดต่อเรา




คู่มือนักเดินทาง

คู่มือการเตรียมพร้อมในการเดินทางท่องเที่ยว

 

การเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำ

            การเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำ ฤดูกาลที่เหมาะสมควรเป็นฤดูหนาวและฤดูร้อน เพราะในฤดูฝนการเดินทางไม่สะดวก มีคลื่นลมเป็นอันตรายในการล่องเรือได้

ข้อปฏิบัติ

1         ควรตรวจสอบสภาพอากาศ คลื่นลม ล่วงหน้า ก่อนออกเดินทาง บนเส้นทางควรตรวจสอบวัน เวลา น้ำขึ้น น้ำลง ล่วงหน้าเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการเดินเรือ

2         เลือกขนาด/ประเภทของเรือให้เหมาะสมกับจำนวนที่เดินทาง ไม่บรรทุกน้ำหนักมากเกินขนาดของเรือ

3         สวมเสื้อผ้าที่กระชับ รัดกุม น้ำหนักเบา แห้งง่าย สวมรองเท้าแตะที่ถอดง่าย เตรียม หมวก ร่มกันแดด และเสื้อแจ๊กเก็ตผ้ากันลม

4         เตรียมถุงพลาสติก ใส่กล้องถ่ายรูปและอุปกรณ์ต่าง ๆ ป้องกันการเปียกน้ำ

5         สวมเสื้อชูชีพ หรือเตรียมห่วงยางป้องกันอันตรายเมื่อพลัดตกลงน้ำหรือเรือล่ม

6         หากนำอาหารไปรับประทานในเรือ เลือกอาหารที่สะดวกในการพกพา และนำขยะกลับมาทิ้งที่ฝั่งไม่ทิ้งขยะลงน้ำ

7         ถ้าพลัดตกจากเรือให้รีบว่ายน้ำเข้าหาเรือหรือว่ายเข้าฝั่ง

8         ไม่ควรล่องเรือขณะฝนตกหรือมีพายุ

9         ไม่หยอกล้อเล่นกัน หรือเดินไปมาขณะล่องเรืออาจทำให้เรือล่มได้

10     ไม่ล่องเรือในเวลากลางคืน เพราะมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน อาจเกิดอันตรายได้

 

การเตรียมตัวเที่ยวน้ำตก

1         ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับน้ำตกที่จะเดินทางไปเที่ยวในทุก ๆ ด้าน เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทาง สภาพเส้นทาง และการเข้าถึงตัวน้ำตก การขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ ในกรณีอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ล่วงหน้าทุกครั้งก่อนออกเดินทาง ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับระยะเวลาในการเดินทาง เพื่อที่จะได้วางแผนการเดินทาง และจัดเตรียมอุปกรณ์ที่เหมาะสมก่อนการเดินทาง

2         หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาพพื้นที่โดยทั่วไปรวมถึงที่พัก และแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง เพื่อจะได้กำหนดการเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น

3         ติดต่อสอบถามข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับพื้นที่ที่เราจะเดินทางไป ไม่ว่าจะเป็นสภาพถนนล่าสุด สภาพอากาศ หรือความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ตามฤดูกาลที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาที่ยุ่งยากตามมาอย่างคาดไม่ถึง

4         เตรียมยานพาหนะให้พร้อม หากเป็นรถที่ขับไปเอง ต้องตรวจสอบสภาพเส้นทางในช่วงนั้น เตรียมความพร้อมของพาหนะให้อยู่สภาพสมบูรณ์ หากเป็นรถที่เช่าเหมาไป ต้องบอกข้อมูลกับคนขับให้ทราบเพื่อการเตรียมตัว

5         รองเท้าที่เตรียมไป ควรเหมาะกับสภาพของน้ำตกที่จะเดินทางไป เช่น หากเป็นน้ำตกที่รถเข้าถึง ไม่ต้องเดินทาง อาจเป็นรองเท้าแตะแบบรัดส้นธรรมดาก็ได้ แต่หากต้องเดินมากหน่อยในเส้นทางที่ค่อนข้างสมบุกสมบัน ควรใช้รองเท้าผ้าใบที่สวมใส่สบาย ๆ พร้อมลุยและเปียกน้ำ เพราะบางช่วงต้องข้ามน้ำหรือลุยน้ำตก หากเป็นเส้นทางเดินป่าระยะทางไกล ควรใช้รองเท้าชนิดเดินป่าจะดีที่สุด

6         เตรียมอุปกรณ์แค้มป์ ตั้งแต่เสื้อผ้าเดินป่า ชุดนอน อุปกรณ์แค้มป์ และเสบียงอาหารให้พร้อม

7         บำรุงร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทำให้การเดินป่าท่องธรรมชาติมีความสุขมากยิ่งขึ้น

ข้อปฏิบัติ

1         เนื่องจากช่วงของการเดินทางเที่ยวน้ำตก กอยู่ในช่วงฤดูฝน ก่อนออกเดินทาง จึงควรหาข้อมูลเรื่องน้ำป่า และระดับน้ำของสถานที่ที่เราจะไป ขณะเที่ยวชมน้ำตก ควรสังเกตว่า ธารน้ำมีน้ำเต็มเปี่ยมและไหลแรงขึ้น การเดินข้ามหรือเล่นน้ำควรเพิ่มความระมัดระวัง หรือพยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำกิจกรรมใด ๆ ใกล้ลำน้ำ เพราะน้ำป่า อาจไหลหลากมาอย่างรวดเร็ว โดยที่เราไม่รู้ตัวได้ทุกเมื่อ

2         การเดินป่าเลาะริมลำห้วย หากจำเป็นต้องตัดข้ามไปมาบ่อยครั้ง ควรยอมเปียกลงลุยน้ำแทนการกระโดดข้ามไปบนก้อนหิน เพราะอาจจะเกิดอุบัติเหตุจนทำให้เท้าบาดเจ็บจนไม่สามารถเดินป่าต่อไปได้

3         ไม่ประมาท หรือหยอกเล่นกันบริเวณที่อันตราย เช่น ตามริมผาน้ำตก บนโขดหินกลางลำห้วย ในช่วงที่น้ำลึกและไหลเชี่ยว เพราะอาจเกิดอันตรายที่คาดไม่ถึงได้

4         น้ำตกบางแห่งมีคำเตือน ห้ามเล่นน้ำในบางบริเวณ เช่น ตามแอ่งน้ำวน น้ำลึก หรือในที่ลาดชัน

ก่อนถึงผาน้ำตกควรปฏิบัติตาม เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

5         ควรระมัดระวัง อย่าให้การเข้าไปเที่ยวน้ำตกของท่านเป็นการรบกวนหรือทำลายธรรมชาติ

6         ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในการเที่ยวน้ำตก เพราะอาจเกิดความเสี่ยงต่อการจมน้ำ หรือพลัดตกจากผาน้ำตก เศษแก้ว เศษขวดที่แตกยังเป็นอันตรายต่อผู้อื่น และยังเป็นการทำลายสภาพแวดล้อมให้เสียหายได้

7         ควรเคารพสิทธิ์ผู้อื่นที่เดินทางเข้าไปสัมผัสธรรมชาติร่วมกัน ด้วยการไม่ส่งเสียงรบกวน หรือกระทำการอันละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และธรรมชาติอันเป็นการขัดต่อกฎหมาย

8         ไม่ทิ้งขยะในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นจุดท่องเที่ยว ในลำธาร ในป่า การเดินทางเข้าไปในป่า ควรหลีกเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติกและวัสดุที่ย่อยสลายยาก หากนำเข้าไปควรนำกลับออกมาทิ้งข้างนอกด้วยตัวเองให้มากที่สุด

9         ช่วยกันรักษาความสะอาดในแหล่งท่องเที่ยว ด้วยการไม่ทิ้งเศษขยะสิ่งของต่าง ๆ ไม่ทำลายสถานที่สาธารณะให้เกิดความเสียหาย ช่วยกันเก็บขยะกันคนละเล็กคนละน้อย

 

การเล่นน้ำทะเล น้ำตก

ควร            -     เตรียมครีมทากันแดด เสื้อชูชีพ

-         ใส่เสื้อผ้าที่กระชับ น้ำหนักเบา ไม่อุ้มน้ำ

-         เล่นน้ำบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเลหรือจุดที่น้ำตื้น

-         มีผู้ร่วมเล่นน้ำด้วย หรือมีผู้คนอยู่บริเวณใกล้เคียง ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

-         เล่นน้ำช่วงเช้า หรือบ่าย ที่มีแสงแดดไม่ร้อนจัด

-         หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำบริเวณที่มีแมงกะพรุน หรือสัตว์ที่ทำให้เกิดอันตรายได้

 

ไม่ควร        -     ลงเล่นน้ำขณะมีฝนตก คลื่นลมแรง

-         ทิ้งขยะมูลฝอยลงในน้ำ บริเวณน้ำตก หรือทางเดิน

-         ออกไปเล่นน้ำไกลชายฝั่ง หรือบริเวณน้ำลึก

-         ลงเล่นน้ำคนเดียว หรือในเวลากลางคืน

-         เก็บ หัก เด็ด ดอกไม้ ใบไม้

-         ปีนป่าย ก้อนหิน โขดหิน หน้าผาบริเวณน้ำตก

-         ขีดเขียนข้อความบนก้อนหิน หน้าผา หรือสถานที่ต่าง ๆ

 

การดำน้ำดูปะการัง

ควร            -     ฝึกหัดการใช้อุปกรณ์ดำน้ำให้ชำนาญ

-         เตรียมร่างกายให้พร้อมไม่อดนอน ไม่ดื่มสุรา

-         เตรียม / เช่าอุปกรณ์ดำน้ำให้พร้อม เช่น หน้ากากดำน้ำ ตีนกบ ชูชีพ ถังออกซิเจน ฯลฯ

-         เตรียมชุดว่ายน้ำ ครีมทาผิวกันแดด

-         ตรวจสอบอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งาน  

-         สวมชุดชูชีพให้พร้อมทุกครั้งก่อนลงน้ำ

-         ผูกเรือไว้กับทุ่นจอดเรือในบริเวณที่จัดไว้

-         ชมปะการังเฉพาะจุดที่ผู้นำทางกำหนดให้เท่านั้น

-         ช่วยกันเก็บขยะในท้องทะเลขึ้นมาทิ้งบนฝั่ง

 

ไม่ควร        -     ดำน้ำช่วงที่มีแสงสว่างน้อย หรือช่วงน้ำลงจัด

-         ลงดำน้ำในขณะที่ร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบการหายใจ-หอบหืด

-         ทิ้งผู้ว่ายน้ำไม่ชำนาญไว้ตามลำพัง

-         ว่ายน้ำออกห่างจากทุ่นจอดเรือมากเกินไป

-         จอดเรือบริเวณแนวปะการัง

-         นำเรือเข้าใกล้ชายฝั่งที่มีปะการังน้ำตื้น

-         สัมผัส หรือแตะต้องปะการัง

-         ทิ้งขยะลงบนชายหาดหรือทะเล เตะตะกอนทรายขึ้นมาทับถมปะการัง

-         จับ หรือ ทำลายสัตว์น้ำทุกชนิด

-         เก็บปะการัง กัลปังหา เปลือกหอย

-         ซื้อของที่ระลึกที่ทำจากปะการัง กัลปังหา ฯลฯ

 

กิจกรรมล่องแก่ง

            การล่องแก่งเป็นกิจกรรมเชิงผจญภัยแบบหนึ่งที่ให้ความตื่นเต้นสนุกสนานอย่างมาก รวมทั้งยังมีสภาพธรรมชาติอันร่มรื่นสวยงามให้ชมตลอดสองฝั่งลำน้ำ สร้างความเบิกบานใจให้แก่ผู้ที่จำเจจากภารกิจประจำวัน การล่องแก่ง นับว่าปลอดภัย พอสมควร หากมีการเตรียมตัวและปฏิบัติตัวโดยยึดถือความไม่ประมาท อย่างไรก็ตามผู้ที่สนใจล่องแก่ง ควรว่ายน้ำเป็น หากเกิดอุบัติเหตุจะได้ช่วยเหลือตนเองได้

            มีสถานที่ซึ่งสามารถล่องแก่งได้อย่างสนุกสนานหลายแห่ง เช่น อุทยานแห่งชาติแม่จริม อุทยานแห่งชาติออบหลวง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ฯลฯ แต่ละแห่งมีเกาะแก่งและระดับความยากง่ายแตกต่างกัน และมีฤดูกาลที่เหมาะสมแก่การล่องแก่งต่างกันด้วย บางแห่งควรล่องช่วงที่น้ำมาก บางแห่งควรล่องช่วงน้ำน้อย ดังนั้นควรสอบถาม หรือศึกษาข้อมูล จากอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งเสียก่อน

ข้อพึงปฎิบัติในการล่องแก่ง

1.      สวมหมวกนิรภัยและเสื้อชูชีพทุกครั้งที่ลงเรือหรือแพ

2.      ตรวจความเรียบร้อยของอุปกรณ์ทุกชิ้นก่อนลงเรือ

3.      สวมเสื้อผ้าและรองเท้าแบบสบาย ๆ ไม่หนาและรัดจนเกินไป

4.      ควรมีอุปกรณ์ยังชีพในป่า เช่น เชือก ไฟฉาย ติดตัวไว้บ้าง ในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

5.      ช่วงลงแก่ง อย่ายื่นอวัยวะใด ๆ ออกนอกลำเรือ หากพลัดตกเรือ บังคับให้เท้านำหน้า ให้น้ำพัดไปจนพ้นแก่ง แล้วค่อยปีนกลับขึ้นเรือหรือว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง

6.      ที่สำคัญที่สุด คือ ปฏิบัติตามระเบียบและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

 

กิจกรรมเดินป่า

การเตรียมของใช้จำเป็นสำหรับการเดินป่า

เสื้อผ้า

ควรเป็นเสื้อแขนยาว และกางเกงขายาวที่แห้งง่ายและสวมใส่สบาย เตรียมไว้ประมาณ 3 ชุด ชุดหนึ่งใส่ช่วงกลางวัน ชุดหนึ่งสำหรับใส่นอน และชุดสุดท้ายสำหรับใส่เดินทางกลับ เสื้อกันหนาวหรือ เสื้อกันฝนก็ควรเตรียมไปด้วยตามฤดูกาล และสภาพอากาศของพื้นที่นั้น

รองเท้า

ควรใช้รองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อ ไม่ควรมีพื้นแข็งหรืออ่อนจนเกินไป และมีขนาดพอเหมาะไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป และไม่มีน้ำหนักมากเกินไป และควรสวมถุงเท้าเพื่อป้องกันรองเท้ากัด

หมวก

เพื่อใช้บังแดด และป้องกันหนามเกี่ยวศรีษะ ขณะเดินลอดกิ่งไม้

เป้สัมภาระ

ควรมีขนาดเหมาะสมกับลำตัวของเจ้าของและจำนวนสัมภาระ โดยปกติเป้เมื่อใส่สัมภาระแล้วไม่ควรมีน้ำหนักเกินร้อยละ 20 ของน้ำหนักตัว หากเป้มีน้ำหนักมาก ควรใช้สายคาดเอวเพื่อถ่ายเทน้ำหนักส่วนหนึ่งจากที่บ่ามาให้ลำตัว บริเวณส่วนเอวช่วยรับน้ำหนักด้วย

เต้นท์พักแรม

ควรใช้ขนาดและจำนวนที่เหมาะกับจำนวนคน เปลสนามก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะเบาและกะทัดรัด แต่ที่ขาดไม่ได้คือ ผ้าพลาสติกสำหรับกางขึงเหนือเต้นท์ หรือเปลสนามเพื่อกันน้ำค้างและน้ำฝน

อุปกรณ์จำเป็นอื่น ๆ

ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นติดตัวไป เช่น ยาประจำตัว ถุงนอน ไฟฉาย มีดอเนกประสงค์ กระติกน้ำ ชุดเครื่องครัวสนาม ถุงขยะ ไฟแช็ก เชือกร่มยาว 2-3 เมตร จำนวน 2-3 เส้น ฯลฯ

เสบียง

ควรเตรียมให้เกินไว้ประมาณ 2 มื้อ ในกรณีฉุกเฉิน หรือเกิดเหตุให้ต้องอยู่ในป่านานกว่ากำหนด และควรเตรียมเสบียงเผื่อไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติที่ช่วยนำทางไว้บ้าง อย่างน้อยก็เป็นน้ำใจที่แบ่งปันให้แก่กัน

ข้อพึงปฏิบัติในการเดินป่า

1         เดินเรื่อย ๆ ไม่ต้องรีบและเดินด้วยความเร็วสม่ำเสมอ

2         ควรเดินเรียงเดี่ยว ให้มองเห็นคนที่เดินอยู่ข้างหน้าเสมอ หากเดินนำไปจนมองไม่เห็นผู้ที่เดินตามหลัง ควรหยุดรอให้คนข้างหลังตามมาจนอยู่ในระยะที่มองเห็นกันได้ จึงค่อยเดินต่อ

3         ไม่ควรส่งเสียงดัง นอกจากเปลืองพลังงานแล้ว ยังลดทอนโอกาสพบสัตว์ป่าตามเส้นทาง

4         ควรพัก 5-10 นาที ทุก 1-2 ชั่วโมง แต่อย่าพักบ่อยเกินไป เพราะจะทำให้เหนื่อยยิ่งขึ้นไปอีก

5         ไม่ควรเดินออกนอกเส้นทาง และไม่ควรเดินป่าตามลำพัง

6         เมื่อพบแหล่งน้ำที่สามารถดื่มได้ ควรเติมน้ำให้เต็มกระติกเสมอ

 

ข้อมูล  :   ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 




ละไม

เกี่ยวกับเรา article
ติดต่อละไม article