เรื่องและภาพ : นพดล กันบัว
ความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติของโลกทำให้ฤดูกาลต่าง ๆ ดูเหมือนจะเปลี่ยนไปด้วย ช่วงปลายปีจนถึงกลางเดือนมกราคมยังมีฝนตกอยู่เลย ช่วงที่ผมและคณะเดินทางไปถ่ายภาพสารคดีที่หมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งเป็นช่วงปลายเดือน วันแรกที่ไปถึงก็พบกับสภาพอากาศอึมครึม ท้องฟ้าถูกปกคลุมไปด้วยเมฆ การถ่ายภาพทะเลนั้นเป็นที่รู้ ๆ กันว่า ถ้าฟ้าไม่ใส มีเมฆอยู่มาก ก็มีผลต่อสีสันของน้ำทะเล หาดทราย ถึงจะมีแสงแดดออกอยู่ตามปกติก็ตาม ภาพที่ได้ทั้งท้องฟ้าและทะเลสีสันจะออกไปทางหม่นหมอง คือไม่ค่อยใสตามที่เราหวังไว้
อะไรจะโชคไม่ดีเสียขนาดนี้ เพราะเมื่อตอนไปถ่ายสารคดีดอยม่อนจองในช่วงปลายเดือนธันวาคม ไปถึงวันแรกฝนก็ตกทั้งวัน ผมและคณะเลยตัดสินใจกลับกันก่อน และอีกอาทิตย์หนึ่งจึงเดินทางขึ้นไปกันใหม่ ก็พอจะได้รูปตามที่ต้องการ
แล้วพอมาทะเลก็มาเจอสภาพอากาศคล้าย ๆ คราวที่แล้วอีก แต่คราวนี้คงกลับก่อนไม่ได้แล้ว เพราะระยะทางไกล เดินทางขึ้นจากเกาะหรือลงไปเกาะใช้เวลาค่อนข้างมาก คงต้องรอเวลาให้อากาศเปิด และวันต่อมาอากาศก็ดีขึ้น ท้องฟ้าเริ่มมีสีสัน แสงแดดก็เริ่มแรงกล้า แต่ที่ผมสังเกตเห็นคือ สภาพอากาศดูเหมือนจะใส ทั้งท้องฟ้าและน้ำทะเล แต่ก็ยังแฝงไว้ด้วยหมอกจาง ๆ ปกคลุมอยู่ทั่วไป จะมองเห็นได้ชัดเจนก็เมื่อมองไปในทิศทางที่ย้อนแสง ด้วยสภาพอากาศตามที่กล่าวมา ทำให้ภาพที่ได้ออกมาดูหม่นหมอง ไม่ใสสดตามที่เราต้องการ
นอกจากเรื่องของสภาพแสงและสภาพของอากาศแล้ว ช่วงเวลาน้ำขึ้นเต็มที่ในเวลาที่เราต้องการก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง ช่วงเวลาที่เหมาะกับการถ่ายภาพและต้องรอให้น้ำขึ้นเต็มที่ก็คือ ตั้งแต่เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกาถึงเวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา ใน ๑๕ วัน น้ำจะขึ้นเต็มที่ในเวลาที่เราต้องการอยู่ ๒ วัน คือ วันแรมและวันขึ้น ๓ ค่ำ และวันขึ้น วันแรม ๑๕ ค่ำ เรื่องวันที่กล่าวมานี้จะตรงกับวันที่เท่าไหร่ ท่านผู้อ่านคงต้องอาศัยดูเวลาจากปฏิทิน ซึ่งสมัยนี้ก็หาดูยากเหมือนกัน หรือจะให้ทันสมัยหน่อยก็หาดูในอินเตอร์เน็ต ที่มีให้ดูทั้งล่วงหน้าหรือย้อนหลังไปหลาย ๆ สิบปีเลยทีเดียว
ภาพทั้งสองภาพของคอลัมน์นี้ ถ่ายในช่วงเวลาตามที่กล่าวมาเหมือนกัน แต่ผมก็เพิ่งมารู้เรื่องน้ำขึ้นน้ำลงตอนที่มาถ่ายภาพที่เกาะสุรินทร์นี่แหละ ช่วงเวลาน้ำขึ้นจึงไม่ตรงความต้องการ ด้วยเวลาที่มีจำกัด ภาพแรกถ่ายเวลาประมาณบ่ายโมง น้ำเพิ่งจะเริ่มขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ผมมองผ่านเลนส์ในขณะถ่ายภาพก็พอจะรู้ได้ว่า สีสันโดยรวมของภาพโดยเฉพาะสีของน้ำยังไม่ได้ตามที่ต้องการ
และภาพที่สองถ่ายในช่วงเวลาตามที่กล่าวมาและเป็นช่วงที่น้ำขึ้นค่อนข้างมาก สีสันโดยรวมของภาพดูดีกว่าภาพแรกค่อนข้างมาก แต่ก็ยังดูหมอง ๆ เนื่องจากสภาพอากาศที่มีหมอกปกคลุมอยู่จาง ๆ ผมจึงนำมาเข้าขบวนการของคอมพิวเตอร์โดยเร่งสีของสิ่งต่างๆ ให้เข้มสดขึ้น เพื่อให้ได้ภาพตามที่เราต้องการ ซึ่งก็มีวิธีการแต่งภาพได้หลายวิธีด้วยกัน คงต้องขอไว้เขียนในโอกาสต่อไป ถึงวิธีการปรับแต่งภาพอย่างไรให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด
ข้อมูลการบันทึกภาพ
1. หาดทรายขาวทอดยาวลงสู่ทะเล บริเวณอ่าวไม้งาม อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา บันทึกด้วยกล้องดิจิตอล SLR เลนส์ ๑๘-๗๐ มิลลิเมตร ความไวชัตเตอร์ ๑/๑๐๐ วินาที ช่องรับแสง ๑๑ สวมฟิลเตอร์ PL ตั้งความไวแสงที่ 200 ISO ตั้งไฟล์ Raw
2. อ่าวช่องขาด บริเวณหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา บันทึกด้วยกล้องดิจิตอล SLR เลนส์ ๑๘-๗๐ มิลลิเมตร ความไวชัตเตอร์ ๑/๑๒๕ วินาที ช่องรับแสง ๑๖ สวมฟิลเตอร์ PL ตั้งความไวแสงที่ 200 ISO ตั้งไฟล์ Raw
อสท. มีนาคม 49