ReadyPlanet.com
ละไม มิวสิค
ละไม ไทยแลนด์
ละไม วาไรตี้
ละไม ต่างแดน
เกี่ยวกับเรา
ติดต่อเรา




วิถี..ดั้งเดิม และพิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตา

อำเภอเกาะลันตา  จังหวัดกระบี่

 

          ก่อนอื่นผมขอเล่าประวัติเรื่องราวในอดีตของชุมชนดั้งเดิมบนเกาะลันตาอย่างคร่าว ๆ เสียก่อนนะครับ แรกเริ่มเดิมที เกาะลันตาขึ้นกับ อำเภอคลองท่อม เมืองปกาสัย ต่อมา พ.ศ.2444 ตรงกับสมัยของเจ้าพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศภิบาลมณฑลภูเก็ต และพระยาอุตรกิจพิจารณ์ เป็นข้าหลวงเมืองกระบี่ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ ชื่อ “ อำเภอเกาะลันตา “  โดยมีนายนาค ถิ่นพังงา เป็นนายอำเภอคนแรก

 

 

          สาเหตุที่ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ เนื่องจากเป็นทำเลที่เหมาะสมในการตั้งด่านเก็บภาษีทางน้ำอีกแห่งหนึ่ง การติดต่อค้าขายตลอดแหลมมลายูฝั่งตะวันตก ยังคงอาศัยการคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก และเป็นเส้นทางผ่าน สำหรับชาวเรือที่มีการติดต่อค้าขายระหว่าง จังหวัดสตูล จังหวัดตรัง จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และอำเภอตะกั่วป่า รวมทั้งเรือสำเภาจากต่างประเทศ ได้แก่ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ที่เข้ามาติดต่อรับซื้อไม้ถ่านโกงกางในแถบนี้ อีกทั้งเกาะลันตามีเกาะแก่ง ภูเขาใหญ่ และแหล่งน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์ เรือสินค้าจึงนิยมแวะพักหลบคลื่นลมมรสุมที่นี่

 

          ในสมัยนั้น บริเวณที่ว่าการอำเภอเกาะลันตา และชุมชนบ้านศรีรายา ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “ ปาไตรายา “ ซึ่งเป็นภาษาชาวเลลูโม๊ะ ลาโว้ย หมายถึง “ หาดของเจ้านาย “  บริเวณริมทะเลใกล้สะพาน “ สามแสน “ ขณะนั้นมีบ้านเรือนปลูกสร้างอยู่ริมทะเลเพียงสองสามหลังเท่านั้น และต่อมาได้ขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

 

 

          ชาวเลลูโม๊ะ ลาโว้ย(อูรัก ลาโว้ย) เป็นชนกลุ่มแรกที่เข้ามาถึง และบุกเบิกเกาะลันตาราว 500 ปีที่ผ่านมา จากนั้นราว 200 ปี กลุ่มชาวไทยมุสลิมก็เข้ามาอยู่อาศัย ต่อมาไม่นานก็มีชาวจีนที่เดินเรือใบสามหลักเข้ามาค้าขายกับประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งมักแวะพักเรือที่หน้าอ่าวฝั่งตะวันออกของเกาะลันตาใหญ่ ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเกาะสืบต่อกันมา ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือ คนไทยเชื้อสายพุทธ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการที่ลงมาประจำตำแหน่งบนเกาะลันตา ตั้งแต่ พ.ศ.2444

 

          ปัจจุบัน เกาะลันตาจึงประกอบไปด้วย 4 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ชาวไทยเชื้อสายลูโม๊ะ ลาโว้ย  ชาวไทยเชื้อสายมุสลิม ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยเชื้อสายพุทธ ชุมชนชาวเกาะลันตา ยังพึ่งพาธรรมชาติและทะเลในการดำรงชีพ ทั้งยังยึดมั่นในหลักศาสนา ประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิม มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สืบสายระบบเครือญาติสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น ความสัมพันธ์อันดี ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลสันติสุข

 

          ชาวเล ลูโม๊ะ ลาโว้ย เป็นชาวเลกลุ่มดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บนเกาะลันตาเมื่อประมาณ 500 ปีมาแล้ว ผู้คนทั่วไปอาจมองว่าพวกเขาก็คือชาวเกาะหรือชาวประมงพื้นบ้านทั่วไป ที่ยังชีพด้วยการออกทะเล จับสัตว์ทะเลทั่วไป ทว่าหากพวกเราได้ศึกษาพวกเขาให้ลึกลงไปกว่านี้แล้ว จะได้สัมผัสถึงความต่างทางวิถีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนอย่างน่าสนใจ

 

          ถึงแม้ว่า พวกเขาจะใช้ภาษาถิ่นใต้ในการสื่อสาร แต่ขณะเดียวกันก็มีภาษาพูดเฉพาะกลุ่มของตนเอง คนทั่วไป เรียกพวกเขาว่า “ ชาวเล “ แต่เขาเรียกตัวเองว่า “ ลูโม๊ะ ลาโว้ย “ หรือในทางวิชาการ เรียกพวกเขาว่า “ อูรัก ลาโว้ย “ ซึ่งหมายถึง คนที่อาศัยอยู่กับทะเล

ลูโม๊ะ      หมายถึง    พวกเรา          อูรัก  หมายถึง  คน        ลาโว้ย  หมายถึง  ทะเล

         กลุ่มคนดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งแห่งทะเลอันดามันในอดีต พวกเขามีเรือเป็นบ้าน ใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายในเรือ พร้อมกับเป็นเครื่องมือในการทำมาหากินไปด้วย การสัญจรไปมาในทะเลอันดามันอันกว้างใหญ่ไพศาล จึงได้รับการขนานนามจากชาวตะวันตกว่า “ ยิปซีทะเล ( Sea Gypsics ) “

 

          ชาวเล ลูโม๊ะ ลาโว้ย นับถือวิญญาณบรรพบุรุษและธรรมชาติ ในแต่ละปีจะมีพิธีกรรมบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขาเคาพรนับถือหลายครั้ง โดยมีพิธีลอยเรือที่นับเป็นพิธีที่สำคัญที่สุด จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในวันขึ้น 13 ค่ำ – แรม 1 ค่ำเดือน 6 และ วันขึ้น 13 ค่ำ – แรม 1 ค่ำเดือน 11 เพื่อบูชาและส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับถิ่นกำเนิด และส่งวิญญาณสรรพสัตว์ที่กินเป็นอาหารมาตลอดปีกลับคืนสู่ที่เดิม เพื่อขอขมาลาโทษและสะเดาะห์เคราะห์

 

          กล่าวกันว่า ลูโม๊ะ ลาโว้ย ไม่ว่าจะตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่ใด ต่างถือว่าเกาะลันตานั้นเปรียบเสมืนเมืองหลวงของพวกเขา เพราะเกาะลันตาเป็นแผ่นดินแรกที่พวกเขาตัดสินใจตั้งหลักปักฐาน เปลี่ยนวิถีชีวิตการเดินทางสัญจรนอนเรือขึ้นมาปลูกเรือนอยู่บนฝั่งแผ่นดิน ในอดีต ชาวลูโม๊ะ ลาโว้ย ไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งใด จะต้องมาร่วมพิธีลอยเรือพร้อมกันที่บ้านหัวแหลมกลาง เกาะลันตา ต่อมาภายหลังแต่ละกลุ่มเริ่มแยกออกไปจัดพิธีลอยเรือกันเอง แต่ก็ยังมีคนไปมาหาสู่กันมิได้ขาด ในช่วงพิธีลอยเรือก็จะสร้างขนำน้อยไว้เพื่อเป็นที่พักผ่อนสำหรับพี่น้องที่มาร่วมพิธีกรรมและสนุกสนานร่วมกัน

 

 

 

          ชาวลูโม๊ะ ลาโว้ย ในเขตประเทศไทย ปัจจุบันมีแหล่งพำนักกระจัดกระจายอยู่ ตั้งแต่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดังราวี เกาะบุโหลน จังหวัดสตูล เกาะพีพี เกาะจำ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ จนถึงเกาะสิเหร่ หาดราไวย์ และบ้านสะปา จังหวัดภูเก็ต สำหรับชาวลูโม๊ะ ลาโว้ย บนเกาะลันตา ปัจจุบันพวกเขามีแหล่งพำนักที่ชัดเจน อยู่ในหมู่บ้านสังกาอู้ บ้านหัวแหลมกลาง ตำบลเกาะลันตาใหญ่ บ้านคลองดาว บ้านในไร่ และศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว ตำบลศาลาด่าน แม้ว่า ชาวลูโม๊ะ ลาโว้ย จะเป็นผู้บุกเบิกเกาะลันตา และมีร่องรอยว่าเคยอยู่อาศัยมาในแทบทุกพื้นที่บนเกาะลันตา แต่หมู่บ้านที่พวกเขาพำนักอยู่นั้น กลับมีพื้นที่เล็กลงทุกทีตามจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามา ทำให้พวกเขาจำต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่บางอย่างเพื่อความอยู่รอดและความผาสุกของตัวเองและครอบครัว

 

          สิ่งที่จะบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนชาวเกาะลันตาได้เป็นอย่างดี เห็นจะเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตา หากท่านผู้อ่านได้มีโอกาสมาเที่ยวที่เกาะลันตาใหญ่แล้ว อย่าลืมแวะไปที่ พิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตา กันนะครับ แต่เดิมบริเวณที่เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นั้น เคยเป็นที่ว่าการอำเภอเกาะลันตาหลังเก่า ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำหน้าที่เป็นที่ว่าการอำเภอเกาะลันตามาร่วม 100 ปี ต่อมาภายหลังได้ย้ายไปเปิดทำการที่ศูนย์ราชการแห่งใหม่ที่บ้านหลังสอด เกาะลันตาน้อย และทางอำเภอเกาะลันตาจึงได้มอบตัวอาคารแห่งนี้ ให้การดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุง แต่ยังคงกลิ่นอายและรูปลักษณะเหมือนตัวอาคารเดิมในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตา ( Koh Lanta Community Museum )


 

 

          พิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตา เกิดขึ้นจากความเห็นชอบร่วมกันของคณะทำงานโครงการฟื้นฟูฯ ทุกฝ่าย ด้วยความตระหนักถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมชุมชนที่เป็นรากเหง้า และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นฐานรากที่สำคัญ การสั่งสมเรื่องราว ความเป็นมา การก่อเกิดชุมชน ความรู้ภูมิปัญญา จารีตประเพณี และการดำรงวิถีชีวิต อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและเรียบง่ายเรื่อยมา ทั้งชาวเล ชาวมุสลิม และชาวจีน ซึ่งปัจจุบันพวกเขายังดำรงวิถีปฏิบัติตามหลักทางวัฒนธรรม ความเชื่อและหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด เพื่อถ่ายทอดสืบต่อไปยังลูกหลาน รวมถึงเผยแพร่ไปสู่กลุ่มคนต่าง ๆ ที่เดินทางมาเยือนเกาะลันตา ให้ได้ศึกษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเรียนรู้พิธีปฏิบัติอันเหมาะสม เพื่อแสดงความเคารพต่อเจ้าของวัฒนธรรมนั้น ๆ

 

          เมื่อเราเดินเข้าไปชมภายในอาคาร ข้าวของทุกชิ้นที่จัดวางไว้นั้น เป็นการบอกเล่าเรื่องราว วิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนชาวเกาะลันตา ซึ่งมีทั้งชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณนี้เป็นจุดแรก รวมถึงวิถีปฏิบัติของชาวมุสลิมที่น่าสนใจอีกด้วย มีข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันสมัยโบราณ โต๊ะทำงานของข้าราชการ โทรศัพท์ เครื่องพิมพ์ดีด และยังมีโรงหนังและโปสเตอร์โฆษณาหนังในสมัยก่อน ซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยากทีเดียว นอกจากนี้ บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ฯ ยังจัดเป็นเหมือนสวนหย่อมหรือสวนสาธารณะ สำหรับให้ชุมชนจูงลูกจูงหลานมาวิ่งเล่นหรือพักผ่อนหย่อนใจ เพราะมีบรรยากาศดี และภูมิทัศน์สวยงาม เมื่อใดที่ต้องการย้อนรำลึกถึงวิถี....ดั้งเดิมของชาวเกาะลันตา ไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายใด ชาติพันธุ์ใด ณ บริเวณแห่งนี้ ....เขตที่ว่าการอำเภอหลังเก่า จะสามารถบอกเล่าสื่อสารเรื่องราวแก่ผู้มาเยือนได้อย่างลึกซึ้ง

 

เรื่อง / ภาพ : ละไมไทยแลนด์



ละไม วาไรตี้

Tawandang German Brewery
ซาฟารีเวิลด์ อาณาจักรแห่งความสุข
สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
พิพิธภัณฑ์วิทย์ฯ คลอง 5 รังสิต
วัดถ้ำเสือ กระบี่
เมืองโบราณ
ตลาดน้ำ 4 ภาค พัทยา
มาดามทุสโซ่ กรุงเทพฯ
ตรุษจีน
เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์
พิพิธภัณฑ์โชคชัย
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ
พระราชวังสนามจันทร์
วัดเล่งเน่ยยี่ 2
ตุ๊กตุ๊กหัวกบ แลเมืองตรัง
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี
ศิลป์แผ่นดิน (Arts of the Kingdom)
อันเดอร์ วอเตอร์ เวิลด์ พัทยา
อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม ราชบุรี
พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี
พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระที่นั่งอนันตสมาคม
พิพิธภัณฑ์อนันต์ชัยไทยโบท
FLIGHT OF THE GIBBON ชะนี....เหิรเวหา
มหัศจรรย์โลกใต้ท้องทะเลในกรุงเทพฯ article
ท้องฟ้าจำลอง
แดนดิน..ถิ่นไดโนเสาร์
Chiang Mai Zoo Aquarium
สิ่งมงคลคู่ตรุษจีน เสริมความเฮง
อันดามัน ชื่อนี้มีที่มา..
เบิร์จ กาลิฟา ตึกสูงที่สุดในโลกแห่งใหม่
เขาดินวนา” ครบรอบ 71 ปี
ขนมจีนเส้นสด กระบี่
วันฮาโลวีน (Halloween)
Night Dive กุ้งลายหินอ่อน
คริสต์มาส
เที่ยวปลอดภัยในหน้าหนาว
ปางอุ๋ง ปาย มันส์ ฮา
เมื่อปลาใหญ่ไล่ล่าปลาเล็ก
ไหว้พระ ที่สระบุรี
ถ่ายภาพเมื่อ ฟ้าหม่น ทะเลหมอง
ตำนาน ดอกกุหลาบ
แสตมป์ทองคำ
หัตถศิลป์ ศิลปาชีพ เทิดพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
เรื่องของเต่าทะเล
โครงการทำความสะอาดบ้านปลาทะเลตรัง
Amazing Balloon Amazing Festival Korat