© copyright Lamaithailand 2003 All Rights Reserved บริษัท ละไม (ไทยแลนด์) จำกัด 299/783 สุขาภิบาล 5 แขวงสายไหม เขตสายไหม กรุงเทพฯ 10220 โทร. 086-970-8319, 081-988-3531, 095-163-6592 E-mail : info@lamaithailand.com |
ศิลป์แผ่นดิน (Arts of the Kingdom) ศิลป์แผ่นดิน กลับมาอีกครั้งในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ จัดโดย มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ถึง 13 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา งาน " ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 5 " (5th Arts of the Kingdom) จัดโดย มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีประชาชนจำนวนมากเช่นกันที่ยังไม่มีโอกาสเข้าชมความสวยงามของงานนี้ บัดนี้งานศิลป์แผ่นดินได้กลับมาอีกครั้งในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ เรียนชิญประชาชนผู้สนใจร่วมเข้าชมความงามของแผ่นดินได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
" ศิลป์แผ่นดิน "จัดโดย มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีพุทธศักราช 2549 และมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พุทธศักราช 2550 งานนี้จัดให้ประชาชนเข้าชมได้ตั้งแต่ เวลา10.00 20.00 น. ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยจำหน่ายบัตรเข้าชมในราคา 100 บาท สำหรับบุคคลทั่วไป และ 50 บาท สำหรับนักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ทั้งนี้ผู้เข้าชมนิทรรศการกรุณาแต่งกายสุภาพ ส่วนสุภาพสตรีผมแนะนำให้ท่านสวมกระโปรงหรือผ้าซิ่นไปชมงาน หากสวมกางเกงมาไม่ว่าจะเป็นขาสั้นหรือขายาว จะต้องชำระเพิ่มอีก 40 บาทเป็นค่าผ้าถุง เพื่อสวมคลุมทับกางเกง ให้ดูสุภาพเรียบร้อย แต่ผ้าถุงนี้เป็นผ้าใหม่นะครับ มีสีต่าง ๆ ให้เลือก เมื่อใช้เสร็จแล้วท่านสามารถนำกลับบ้านไปได้เลย นอกจากนี้ เพื่อความสะดวกของผู้เข้าชมนิทรรศการ ทางผู้จัดฯ เขามีรถตู้ปรับอากาศบริการรับ-ส่งผู้เข้าชมนิทรรศการระหว่าง พระที่นั่งอนันตสมาคมและสวนอัมพร ตลอดระยะเวลาแสดงงานอีกด้วยครับ ข้อสำคัญงานนี้งดถ่ายภาพทุกประเภทครับ สำหรับท่านที่เตรียมกล้องมาก็สามารถฝากกล้องหรือกระเป๋าต่าง ๆ ไว้ที่ล๊อกเกอร์ก่อนเข้างานได้ครับ งานศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 5 แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. การประมูลผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ ซึ่งเป็นงานประมูลผลงานชั้นเยี่ยมที่คัดสรรเป็นพิเศษ จากฝีมือสมาชิกของโรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา เช่น พระกรัณฑ์ถมตะทอง กระเป๋าราตรีถมทอง กระเป๋าย่านลิเภา เป็นต้น โดยงานประมูลนั้นจัดการประมูลไปเรียบร้อยแล้ว ในวันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2550 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม 2. การจัดแสดงนิทรรศการผลงาน จากโรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ องค์ประธานมูลนิธิส่งส่งเสริมศิลปาชีพฯ เสด็จพระราชดำเนินเปิดงานในวันอังคารที่ 18 ธันวาคม 2550 และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมนิทรรศการ ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม ถึง 13 มกราคม 2551 ซึ่งผลงานที่จัดแสดงแต่ละชิ้นนั้นล้วนวิจิตรงดงาม ทรงคุณค่าอย่างหาที่เปรียบมิได้ ในที่นี้ผมขออนุญาตกล่าวถึงผลงาน 3 ชิ้น อันได้แก่ บุษบกมาลา หรือซุ้มยอด มีเครื่องยอดขนาดเล็ก มีหลังคาซ้อนชั้นเป็นยอดแหลม มีบันแถลงเป็นเครื่องประดับ เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ บุษบกที่ประกอบเกรินทั้งซ้ายขวา เรียกว่า บุษบกมาลา
สัปคับพระคชาธาร สัปคับจำหลักทองประดับเพชรในโครงสร้างเงิน จำหลักลายเทศ และดอกเทศลอยประดับเพชร พื้นซับปีกแมลงทับ ท้ายประกอบเกรินกาบพรหมสิงห์จำหลักทอง ราวพนักลายนาค เกี้ยวพื้นลายเทศ ด้านนอกพนักซ้ายขวาทั้งสองข้าง ตั้งลายปฏิญาณใหญ่ (ใบปรือ) จำหลักทองประดับเพชร ขาประกอบหน้าสิงห์ ขบลายเทศประดับเพชร พื้นตาดทองคำสาน จำลองแบบจากพระที่นั่งพุดตานคชาธาร ซึ่งทอดประทับ ณ มุขทิศเหนือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท อันเป็นสัปคับพระคชาธาร สำหรับออกราชสงคราม
สุวรรณเภตรา สำเภาถมทอง ท้องสำเภาทองสาน เสาคร่ำเงินคร่ำทอง ใบจำหลักฉลุทองที่ยอดเสาเป็นธงลงยา หน้าสำเภาจำหลักทองลงยา หน้าอสูรกุมภัณฑ์ ช่องกาบจำหลักฉลุทองซับปีกแมลงทับ ท้ายสำเภาตั้งบัลลังก์ บัวปากฐานติดปฏิญาณรายรอบซุ้มยอดสามชั้นลด ทำนองบุษบกกระบวนจีน งานศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 5 นี้ นอกจากผลงานที่เคยจัดแสดงในงานศิลป์แผ่นดินครั้งที่ผ่านมาแล้ว ยังมีการจัดแสดงผลงานชิ้นเอก 10 ชิ้น ที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่องานนี้ ได้แก่ พระที่นั่งพุดตานถมทอง พระที่นั่งพุดตานคร่ำทอง สีวิกากาญจน์ เรือพระที่นั่งจำลองศรีสุพรรณหงส์ บุษบกห้ายอดไม้แกะสลัก ฉากผ้าปักป่าหิมพานต์ ฉากไม้แกะสลักตำนานเพชรรัตน์ ฉากเขียนสุเรนทรจรจักรวาล ห้องปีกแมลงทับ และม้านิลมังกรไม้แกะสลักแต่งอัญมณี นอกเหนือจากการจัดนิทรรศการแสดงผลงานฯ แล้ว โรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ยังร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต นำภาพผลิตภัณฑ์ชิ้นสำคัญ เช่น บุษบกมาลา สัปคับพระคชาธาร เรือสุพรรณหงส์ เรืออนันตนาคราช ฯลฯ มาจัดพิมพ์เป็นแสตมป์ชุดพิเศษ จำหน่ายในงานครั้งนี้ด้วย 3. การจำหน่ายผลิตภัณฑ์และผลิตผลทางการเกษตรจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ที่เวทีใหม่และเวทีเก่า สวนอัมพร อาทิ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมแพรวา ผ้าชาวเขา ภาพวาด ย่านลิเภา เครื่องจักสาน ไม้แกะสลัก ฯลฯ ส่วนผลิตผลทางการเกษตร อาทิ ข้าวชนิดต่าง ๆ ผัก ผลไม้ปลอดสารพิษ เป็นต้น
ขอเชิญชวนท่านผู้อ่าน เข้าชมนิทรรศการงานศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 5 กันนะครับ ในชีวิตประชาชนคนธรรมดาอย่างพวกเรามีสักกี่ครั้งที่จะได้ชื่นชมผลงานอันทรงคุณค่าอย่างหาที่เปรียบมิได้เช่นนี้ สำหรับผมการได้เข้าไปชื่นชมบรรยากาศภายในพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้นก็ถือว่าเป็นบุญตาหนักหนาแล้วครับ เพราะปกติพระที่นั่งฯ พระองค์นี้มิได้เปิดให้ประชาชนเข้าไป ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีแล้วครับ ที่พวกเราปวงชนชาวไทยจะได้ไปชื่นชมความวิจิตรของพระที่นั่งอนันตสมาคม รวมไปถึงผลงานอันทรงคุณค่าของแผ่นดินที่มาจัดแสดงให้พวกเราได้ชมกันอย่างเต็มตาและอิ่มใจ
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ งานส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเริ่มขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ตั้งแต่ปี 2513 และได้ก่อตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2519 ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ร่วมกับการบริจาคของผู้ที่เห็นคุณค่าและซาบซึ้งในพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์นี้ โดยวัตถุประสงค์หลัก คือ การเพิ่มรายได้ให้แก่ราษฎร การอนุรักษ์และส่งเสริมหัตถกรรมไทยโบราณของชาติไว้มิให้เสื่อมสูญ การเปลี่ยนอาชีพของราษฎรไทยบางท้องถิ่น ได้แก่ ชาวไทยภูเขาที่ปลูกฝิ่นหรือตัดไม้ทำลายป่า ให้หันมาประกอบงานหัตถกรรม เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น ปัจจุบันมีการฝึกอบรมมีทั้งสิ้น 23 แผนก อาทิ แผนกคร่ำ งานคร่ำ คือการประดิษฐ์ลวดลาย โดยการตีฝังเส้นเงินหรือเส้นทอง ลงบนโลหะที่เป็นเหล็ก โดยการทำผิวหน้าของเหล็กให้ขรุขระ ด้วยการสับเป็นเส้นตัดกันไปมาในทิศทางต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่า สับเหล็ก เมื่อฝังเส้นเงินเส้นทองลงไปตามลวดลายบนเหล็กที่ได้รับการสับแล้ว หนามเหล็กที่เกิดขึ้นจะทำหน้าที่เหมือนหนามเตย แผนกถมทอง เป็นงานหัตถกรรมดั้งเดิมของไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่มาเฟื่องฟูในสมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มจากการตีแผ่นเงิน เพื่อขึ้นรูปให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ แล้วทำลวดลายด้วยวิธีสลัก ให้พื้นผิวต่ำลงเป็นร่อง เกิดเป็นลวดลาย จากนั้นจึงนำยาถมซึ่งมีสีดำ ได้จากการหลอมโลหะหลาย ๆ ชนิดตามสัดส่วนมารมด้วยความร้อน ถมตามร่องของลวดลายเดิมจนเต็มเสมอพื้นผิวเงิน เมื่อตะไบให้ผิวเรียบเสมอกันแล้ว นำทองคำบริสุทธิ์ซึ่งผสมเป็นเนื้อเดียวกันกับปรอทมาทาบนชิ้นงานให้ทั่ว แล้วใช้ความร้อน ให้ปรอทระเหยออกไปเหลือแต่ทองคำติดอยู่ สีดำของยาถม สีทองของทองคำ จึงเรียกว่า ถมทอง แผนกทอผ้าไหม ผ้าไหมเป็นงานหัตถศิลป์ที่รู้จักกันดีทั่วโลก ด้วยคุณภาพที่มีเอกลักษณ์ในความเงางามและคงทนของเนื้อผ้า บรรพบุรุษถ่ายทอดสืบต่อกันมานาน มีลวดลายและเคล็ดลับกรรมวิธี ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละภาค แผนกแกะสลักไม้ มีสองลักษณะ คือ แกะเป็นภาพนูนบนเนื้อไม้ และแกะลอยตัว โดยมีขั้นตอนคล้ายกันคือ ร่างภาพ หรือวาดลาย แล้วใช้เครื่องมือเหล็กจำพวกสิ่วและค้อน สลักตกแต่งให้ได้รูปทรงตามที่วาด แล้วจึงถึงขั้นตอนการแกะสลักลวดลายอย่างละเอียด แผนกปั้น เป็นการถ่ายทอดจินตนาการของศิลปินออกมาเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง งานปั้นชิ้นที่มีความงดงามเป็นพิเศษ อาจถูส่งไปเป็นแบบเพื่องานศิลปะอื่น ๆ ได้ต่อไป งานปั้นจึงเป็นขึ้นตอนที่สำคัญและมีความหมายต่อการพัฒนาของงานศิลปาชีพเป็นอย่างยิ่ง แผนกสานย่านลิเภา ย่านลิเภาเป็นไม้เลื้อยประเภทหนึ่งที่ขึ้นอยู่อย่างสมบูรณ์ในพื้นที่ป่าทางภาคใต้ของไทย เถาย่านลิเภามีคุณสมบัติเหนียว ทนทานเหมาะกับนำมาจักสาน เป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ศิลปะการตกแต่งย่านลิเภาได้พัฒนาขึ้นในระดับสูง มีการตกแต่งกระเป๋าหมากย่านลิเภาด้วยโลหะหรือวัสดุมีค่า เช่น ทองคำ เงิน นาก และงาช้าง แผนกงานตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ มีหลายขั้นตอน ซึ่งจะต้องมีความประณีต พิถีพิถัน ตั้งแต่การเลือกปีก คัดสี และเตรียมปีก แมลงทับที่นำมาใช้ตกแต่งจะต้องตายตามธรรมชาติ จึงจะคงทน มีสีเหลือบมันวาว ไล่สีต่างกันอย่างสวยงาม และเมื่อผ่านกรรมวิธีการเตรียมปีกที่จะช่วยให้ปีกและส่วนต่าง ๆ ของแมลงทับไม่เน่าเปื่อย หรือแห้งกรอบแล้ว จะสามารถนำมาตกแต่งด้วยการสานไปพร้อมกับการสานเส้นลิเภา หรือประดับลงบนงานไม้แกะสลัก และงานเครื่องเงิน ท่านผู้อ่านครับ นั่นเป็นเพียงบางส่วนจากทั้งหมด 23 แผนกการฝึกอบรม ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ เท่านั้นครับ ซึ่งได้ผลิตผลงานอันทรงคุณค่าออกมาเพื่อให้ราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารได้มีงานทำ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างที่เรียนให้ทราบไปแล้ว หากท่านสนใจผลงานของทางมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ ซึ่งก็มีจัดจำหน่ายอยู่ทั่วภูมิภาค อาทิ ศูนย์ศิลปาชีพ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ จังหวัดลำปาง ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ตุงติง จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม บ้านจาร บ้านส่องดาว จังหวัดสกลนคร และศูนย์ศิลปาชีพ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น ข้อมูลอ้างอิง เอกสารมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ สวนจิตรลดา โทร. 0 2281 1111 ขอบพระคุณ www.artsofthekingdom.com เรียบเรียง ละไมไทยแลนด์ ธันวาคม 2550
|