© copyright Lamaithailand 2003 All Rights Reserved บริษัท ละไม (ไทยแลนด์) จำกัด 299/783 สุขาภิบาล 5 แขวงสายไหม เขตสายไหม กรุงเทพฯ 10220 โทร. 086-970-8319, 081-988-3531, 095-163-6592 E-mail : info@lamaithailand.com |
พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี ในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 เมืองลพบุรี นับเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก และได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมมาจากอาณาจักรเขมร ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 เรียกว่า สมัยลพบุรี เมื่อครั้นอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ได้รับการสถาปนาขึ้นมาในปี พ.ศ.1893 เมืองลพบุรีถูกลดฐานะลงเป็นเพียงเมืองลูกหลวง จนในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดให้วิศวกรชาวฝรั่งเศสและอิตาลีร่วมกันออกแบบสร้างพระราชวังเมืองลพบุรี กำแพงเมือง และป้อมปราการต่าง ๆ ขึ้นในปี พ.ศ.2209 เพื่อใช้เป็นที่ประทับว่าราชการงานเมือง ต้อนรับแขกเมือง พักผ่อน และล่าสัตว์ เสมือนเป็นราชธานีแห่งที่สอง รองจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2231 เมืองลพบุรีจึงถูกทิ้งร้างลง และได้รับการบูรณะอีกครั้ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดให้สร้างหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ และหมู่ตึกพระประเทียบขึ้นในปี พ.ศ.2399 พระราชทานนามว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ต่อมา ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้พระราชทานหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นศาลากลางจังหวัดลพบุรี ภายหลังได้จัดตั้งเป็นลพบุรีพิพิธภัณฑ์สถาน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2467 และประกาศเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ ในปี พ.ศ.2504 พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ตั้งอยู่ที่ถนนสรศักดิ์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เป็นพระราชวังโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีความสำคัญ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม แสดงถึงความรุ่งเรืองสูงสุดสมัยหนึ่งของเมืองลพบุรี ลักษณะผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นที่กว้าง 41 ไร่เศษ ด้านหน้าหันเข้าหาตัวเมือง ด้านหลังติดแม่น้ำลพบุรี มีกำแพงก่ออิฐถือปูน และใบเสมาล้อมรอบ มีป้อมปืน 7 ป้อม ประตูสูงใหญ่ รูปโค้งแหลม 11 ประตู มีการเจาะช่องรูปโค้งแหลมเล็กสำหรับวางตะเกียงให้ความสว่างไสวแก่พระราชวังในยามค่ำคืน อันเป็นรูปแบบศิลปะสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ภายในพระราชวัง แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 เขต คือ เขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน มีพระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างดังนี้ เขตพระราชฐานชั้นนอก มีสิ่งก่อสร้าง 5 หลัง ได้แก่ 1. อ่างเก็บน้ำ หรือถังเก็บน้ำประปา เป็นที่กักเก็บน้ำใช้ภายในพระราชวัง ก่อด้วยอิฐฉาบปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังอิฐมีความหนาเป็นพิเศษ เก็บน้ำที่ไหลจากอ่างซับเหล็กตามท่อดินเผา มายังพระราชวัง เป็นฝีมือการก่อสร้างของวิศวกรชาวฝรั่งเศสและบาทหลวงชาวอิตาลี 2. สิบสองท้องพระคลัง สันนิษฐานว่า เป็นพระคลังเก็บสินค้าหรือสิ่งของ เพื่อใช้ในราชการ และที่จะพระราชทานให้แก่ผู้ทำความดีความชอบ เช่น เสื้อผ้า ผ้าแพรพรรณ ดาบ ไม้ฝาง งาช้าง ดีบุก พริกไทย ฯลฯ ลักษณะเป็นอาคารทรงตึกแบบยุโรป ประตู หน้าต่าง และช่องระบายลมใต้หลังคาเป็นรูปโค้งแหลม 3. ตึกเลี้ยงรับรองแขกเมือง เป็นสถานที่เลี้ยงต้อนรับคณะราชทูตต่างประเทศ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดพระราชทานเลี้ยงแก่คณะราชทูตเชอร์วาเลีย เดอ โชมองต์ จากประเทศฝรั่งเศสในปีพ.ศ. 2228 ลักษณะเป็นอาคารทรงตึกแบบยุโรป มีคูน้ำล้อมรอบอาคาร ประตู หน้าต่าง และช่องระบายลมใต้หลังคาเป็นรูปโค้งแหลม 4. ตึกพระเจ้าเหา สันนิษฐานว่า เป็นหอพระประจำพระราชวัง ชื่อพระเจ้าเหา คงหมายถึง พระพุทธรูปเก่าแก่สำคัญที่ประดิษฐานอยู่ภายในคึกนี้ ลักษณะเป็นอาคารทรงตึกแบบยุโรป ผสมผสานกับแบบไทย ประตู หน้าต่าง ประดับลวดลายปูนปันที่ซุ้มเรือนแก้วและฐานเท้าสิงห์แบบไทย สมเด็จพระเพทราชา ทรงประกาศยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ ตึกนี้เมื่อปี พ.ศ. 2231 5. โรงช้างหลวง เป็นที่อยู่ของช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและเจ้านาย สำหรับใช้ในราชการเสด็จประพาสป่าล่าสัตว์ และที่พักของควาญช้างและผู้ดูแลช้าง ซึ่งหมุนเวียนกันเข้ามาดูแลช้างเผือก ลักษณะเป็นอาคารทรงตึกแบบยุโรป ประตู หน้าต่าง เป็นรูปโค้งแหลม
เขตพระราชฐานชั้นกลาง มีสิ่งก่อสร้าง 2 หลัง ได้แก่ 1. พระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นที่ประทับออกว่าราชการแผ่นดินและประชุมองคมนตรี ลักษณะเป็นอาคารทรงตึก หลังคา ประตูและหน้าต่างเป็นศิลปะแบบไทยแท้ ด้านหน้าพระที่นั่ง มีมุขเด็จยื่นออกมา สำหรับเสด็จออกให้ข้าราชการเข้าเฝ้า ได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันจัดแสดงเป็นห้องเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 2. พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท เป็นที่เสด็จออกต้อนรับคณะราชทูตต่างประเทศ ลักษณะเป็นอาคารทรงตึกแบบยุโรป ผสมผสานกับแบบไทย ด้านหน้าเป็นท้องพระโรง ผนังภายในเดิมประดับด้วยกระจกเงาจากประเทศฝรั่งเศส ตามมุมประดับด้วยทองลูกบวบ ดูโอ่อ่าวิจิตรตระการตา ด้านหลังเป็นอาคารทรงสูง สันนิษฐานว่า หลังคาเป็นทรงมณฑปยอดแหลม เรียกว่า มหาปราสาท ตรงกลางมีสีหบัญชรที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เสด็จออกรับคณะราชทูต ประตู หน้าต่าง เป็นรูปโค้งแหลม ประดับลวดลายปูนปั้นที่ซุ้มเรือนแก้ว และฐานเท้าสิงห์แบบไทย เขตพระราชฐานชั้นใน มีสิ่งก่อสร้าง 1 หลัง ได้แก่ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลักษณะเป็นอาคารทรงตึกแบบยุโรป หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง มีน้ำพุ สระน้ำ ตั้งอยู่ใกล้กับภูเขาจำลอง ต้นไม้และดอกไม้ส่งกลิ่นหอม สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สร้างหมู่พระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ใหม่เพิ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2399 ดังนี้ เขตพระราชฐานชั้นกลาง มีสิ่งก่อสร้าง 2 หลัง ได้แก่ 1. หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นอาคารทรงตึกแบบตะวันตก ด้านหน้าสูง 2 ชั้น ด้านหลังสูง 3 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องกาบูแบบจีน ชั้นล่างเป็นใต้ถุน มีประตูเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ชั้นที่ 2 ประกอบด้วยพระที่นั่งไชยศาสตรากร พระที่นั่งอักษรศาสตราคม พระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย ห้องเสวยพระกระยาหาร และชั้นที่ 3 เป็นห้องพระบรรทม ตรงจั่วประดับด้วยลวดลายปูนปั้น ตราลัญจกรแผ่นดิน รูปพระมหาพิชัยมงกุฎและรูปพระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ปัจจุบันจัดแสดงห้องเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและศิลปะโบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ 2. ทิมดาบ เป็นที่พักของทหารรักษาการณ์พระราชวัง ตั้งอยู่ตรงมุมกำแพงด้านทิศเหนือและทิศใต้ ลักษณะเป็นอาคารทรงตึกแบบตะวันตก ประตูเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม
เขตพระราชฐานชั้นใน มีสิ่งก่อสร้าง 10 หลัง ได้แก่ ตึกพระประเทียบ มีทั้งหมด 10 หลัง เป็นที่ประทับของพระมเหสี พระชายา และช้าราชบริพารฝ่ายในของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นอาคารทรงตึกสูง 2 ชั้น ชั้นเดียวและศาลาเชิญเครื่องเสวย 1 หลัง ชั้นล่างประตูเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ปัจจุบันใช้จัดแสดงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านและนิทรรศการชั่วคราว พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี ที่ตั้ง ถนนสรศักดิ์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โทรศัพท์ 036-411458 โทรสาร 036-411458 วันทำการ เปิด วันพุธ วันอาทิตย์ เวลา 08.30 16.00 น. ปิด วันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ |