© copyright Lamaithailand 2003 All Rights Reserved บริษัท ละไม (ไทยแลนด์) จำกัด 299/783 สุขาภิบาล 5 แขวงสายไหม เขตสายไหม กรุงเทพฯ 10220 โทร. 086-970-8319, 081-988-3531, 095-163-6592 E-mail : info@lamaithailand.com |
การแพร่พันธุ์ปลาหางนกยูง
การแพร่พันธุ์ปลาหางนกยูง ปลาหางนกยูง หรือ Guppy ในภาษาอังกฤษ เป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม ส่วนใหญ่มักจะเลี้ยงไว้หลายๆ ตัว เวลาพวกมันแหวกว่ายอยู่ในตู้ปลาหรือบ่อเลี้ยงปลาดูสวยงาม เพลินตา เพลินใจ ปลาหางนกยูง (Guppy) ถึงแม้จะมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ มักพบได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ปัจจุบันในประเทศไทยเรา มีการเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูงเกรดสวยงามเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การผสมข้ามสายพันธุ์ก็จะทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ หลากหลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ยังแบ่งเป็นพันธุ์ย่อยๆ อีก ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีเอกลักษณ์ หรือลักษณะเด่น อาทิ สีของปลา รูปร่างของครีบปลา ซึ่งจะทำให้เราสามารถแยกแยะได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใด การแยกเพศของปลาหางนกยูง (Guppy) เพศผู้ : มีขนาดลำตัวเล็กและเรียวกว่าเพศเมีย ลักษณะครีบหลังและครีบหางยาวกว่าเพศเมีย และมีสีสันเข้มกว่า สดสวยกว่าเพศเมีย เพศผู้จะมีท่อส่งน้ำเชื้อ ซึ่งเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ลักษณะเป็นท่อยาว ๆ อยู่ใต้ครีบท้อง และไม่มีครีบก้น เพศเมีย : มีขนาดลำตัวใหญ่และอ้วนกว่าเพศผู้ มีครีบหางสั้นกว่า บริเวณลำตัวไม่ค่อยมีสีสัน อาจมีสีสันบ้างที่ครีบหาง มีครีบก้น ส่วนช่วงท้องมีผนังค่อนข้างบาง หากเป็นเพศเมียที่ท้องแก่ จะสามารถมองเห็นจุดสีดำๆ ซึ่งเป็นลูกปลาในท้องได้ การเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูง โดยหลักการเพาะพันธุ์ ถ้าเลือกปลาสองตัวที่มีสีเหมือนกัน ลักษณะครีบหางเหมือนกัน ลูกปลาก็จะออกมาสีและลักษณะครีบเดียวกันกับพ่อแม่ การผสมพันธุ์ ควรนำตัวผู้ 1 ตัวและตัวเมีย 3 ตัวเพื่อช่วยในการผสมพันธุ์ เนื่องจากอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ตัวผู้มักจะเกรี้ยวกราดและไล่ต้อนตัวเมีย แต่สำหรับอัตราส่วน 1 ต่อ 3 ปลาตัวผู้จะสนใจตัวเมียทั้งสามตัว ทำให้ลดความตึงเครียดระหว่างการผสมพันธุ์ได้ แต่จะใช้แบบ 1 ต่อ 1 ก็ได้เช่นกัน การผสมพันธุ์ของปลาหางนกยูง สามารถแพร่พันธุ์ได้เกือบตลอดทั้งปี เมื่อปลาเจริญเติบโตเต็มวัย พร้อมที่จะผสมพันธุ์ ปลาเพศผู้ก็จะเข้าผสมพันธุ์กับปลาเพศเมีย โดยยื่นท่อส่งน้ำเชื้อเข้าไปทางช่องสืบพันธุ์ของเพศเมีย แล้วปล่อยน้ำเชื้อเข้าไปผสมกับไข่ในท้องของปลาเพศเมีย ซึ่งเป็นการผสมพันธุ์ภายใน จากนั้นไข่ก็จะมีการพัฒนาต่อไป จนฟักออกเป็นตัวก็จะถูกปล่อยหรือคลอดออกจากแม่ปลา ลูกปลาที่คลอดออกมาใหม่ ๆ จะมีขนาดตัวค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับลูกปลาที่ฟักออกจากไข่ที่เกิดจากการผสมภายนอก และยังค่อนข้างมีความแข็งแรง สามารถว่ายน้ำได้อย่างรวดเร็วเพื่อหาที่หลบซ่อน มิฉะนั้นจะถูกแม่ปลา หรือปลาตัวอื่นจับกินเป็นอาหาร ดังนั้น จึงควรใส่พันธุ์ไม้น้ำจำพวกสาหร่ายหรือจอกที่มีรากยาว ๆ ลงไปในที่เพาะพันธุ์ปลาด้วย เพื่อเอาไว้เป็นที่หลบซ่อนหรือกำบังให้กับลูกปลาที่เพิ่งคลอดใหม่ ช่วยให้รอดพ้นจากการถูกแม่ปลาจับกิน ปลาหางนกยูง ออกลูกเป็นตัว เจริญเติบโตเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ปลาเพศเมียจะให้ลูกได้คอกละประมาณ 30 -90 ตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของปลา ยิ่งปลาตัวใหญ่ก็จะให้ลูกได้มากขึ้น และแม่ปลาจะสามารถให้ลูกคอกต่อไปได้อีกในเวลาประมาณ 25-35 วัน การเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย ๆ และการได้รับอาหารที่ดี เหล่านี้ก็เป็นปัจจัยมีผลทำให้แม่ปลาตั้งท้องและออกลูกได้เร็วขึ้น
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง :
สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ 2553. สายพันธุ์ปลาหางนกยูง และการเพาะเลี้ยง ออนไลน์ 2 มีนาคม 2554. ขอบคุณภาพ kapook.com
|