ReadyPlanet.com
ละไม มิวสิค
ละไม ไทยแลนด์
ละไม วาไรตี้
ละไม ต่างแดน
เกี่ยวกับเรา
ติดต่อเรา




กำแพงเมืองจีน

หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก

      

 

          กำแพงเมืองจีน นับเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง มีประวัติศาสตร์และตำนานมากมายที่เล่าขานเรื่องกำแพงเมืองจีน และน่าจะมีเรื่องหลากหลายที่เกี่ยวเนื่อง ด้วยความยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ ซึ่งมโหฬารเกินกว่าที่ใครจะเคยคาดคิด และยิ่งกว่านั้นก็คือ งานดังกล่าวเป็นผลงานที่สั่งสมผ่านระยะเวลาอันยาวนานนับศตวรรษ

 

          กำแพงเมืองจีน สร้างขึ้นเพื่อล้อมรอบพื้นที่ของจีน เริ่มจากฝั่งแม่น้ำยาลู ไปสิ้นสุดที่เชิงเขาฉีเหลียนซาน และเทียนซาน โดยลดเลี้ยวไปตามขุนเขาสูงชัน ทุ่งหญ้า และทะเลทรายอันกว้างใหญ่ รวมทั้งบริเวณแหล่งน้ำขนาดใหญ่มากมาย ถือเป็นการวางตำแหน่งชัยภูมิที่ดี เพราะนอกจากตัวกำแพงเมืองจะคอยป้องกันข้าศึกแล้ว ยังใช้เป็นที่ประจำของกองกำลังรักษากำแพงเมืองด้วย

 

         จุดกำเนิดของกำแพงประวัติศาสตร์แห่งนี้  เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นของสมัยชุนชิวในแผ่นดินจีนโบราณ ในสมัยนั้นมีธรรมเนียมอย่างหนึ่ง คือเจ้าครองนครแต่ละแห่งจะสร้างกำแพงขนาดใหญ่ขึ้น ณ ตำแหน่งต่าง ๆ กัน เพื่อป้องกันศัตรูรุกราน ทว่ากำแพงเมืองจีนที่เราเห็นอยู่นี้แตกต่างไปจากกำแพงเมืองอื่น ๆ ตรงที่ เป็นการสร้างทอดแนวยาวไม่ได้สร้างโอบล้อมเมืองในลักษณะปิดเป็นวง

 

          ในสมัยแรก ๆ นั้น มีการสร้างกำแพงขึ้นหลายแห่งด้วยกัน ทั้งทางใต้ ทางเหนือ ทางตะวันออก กระทั่งทางตะวันตก โดยสร้างผ่านตลอดพื้นที่อันกว้างใหญ่ของแผ่นดินจีน กำแพงแต่ละแห่ง มีความยาวนับร้อยลี้และกำแพงนี้ก็ได้รับชื่อว่า กำแพงฉางเฉิง ซึ่งแปลว่า กำแพงยาว

 

           กำแพงเมืองจีน ก่อสร้างผ่านไปทางตอนเหนือ มีความสวยงามมาก และแต่ละยุคสมัยก็มีการสร้างกำแพงเพิ่มขึ้นสมัยละกว่า 5,000 กิโลเมตร กำแพงแห่งนี้จึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า กำแพงหมื่นลี้ หรือ กำแพงว่านลีฉางเฉิง กำแพงที่สร้างในยุคสมัยต่าง ๆ ก็มีความชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา และมีการบูรณะสร้างเสริมขึ้นด้วยเช่นกัน สำหรับกำแพงเมืองที่เราเห็นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นการบูรณะในสมัยราชวงศ์หมิง

 

           สถิติต่าง ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับกำแพงแห่งนี้ เราได้จากเอกสารของทางการจีน ทำให้เราทราบว่า มีผู้ปกครองถึง 2 เมือง และมีราชวงศ์ต่าง ๆ หลายราชวงศ์ด้วยกัน ถ้าวัดความยาวทั้งหมดแล้ว จะได้กำแพงเมืองที่มีความยาวถึง 50,000 กิโลเมตร

 

           การสร้างกำแพงสมัยแรก ๆ นั้นอยู่ในยุคชุนชิว เมื่อกษัตริย์แห่งโจว เริ่มเสื่อมอำนาจลง หัวเมืองต่าง ๆ เริ่มกระด้างกระเดื่อง ผู้ครองนครจึงต้องสร้างกำแพงเมือง เพื่อปกป้องแผ่นดินของตน นอกจากสร้างกำแพงแล้ว ยังจะต้องมีหอคอยหรือเชิงเทิน พร้อมสรรพ และยังมีทหารคอยดูแลอย่างแน่นหนา จากการสร้างกำแพงแต่ละเมืองนั่นเอง ทำให้กำแพงเหล่านี้เชื่อมต่อกัน จนกลายเป็นกำแพงหมื่นลี้ที่เราเห็นในปัจจุบัน ยุคสมัยดังกล่าวนี้ คือเมื่อศตวรรษที่ 9 ก่อนคริสตกาล

 

          มีหลักฐานว่าเมืองฉู เป็นเมืองที่สร้างกำแพง มีความยาวหลายร้อยกิโลเมตร เมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล กำแพงขนาดยาวส่วนนี้ ตัดผ่านมณฑลเหอเป่ย มณฑลส่านซี และมณฑลเหอหนาน แต่ปัจจุบันไม่เหลือปรากฏอยู่เลย หลังจากนั้นก็ยังมีการสร้างกำแพง เพื่อแสดงเขตของตนเองโดยแต่ละหัวเมือง อันได้แก่เมืองฉี เมืองเจ้า เมืองฮั่น และเมืองเล็ก ๆ อื่น ๆ ก็สร้างกำแพง เพื่อป้องกันเมืองของตนเอง กำแพงในสมัยแรก ๆ นี้ เป็นรากฐานสำคัญสำหรับการสร้างกำแพงหมื่นลี้อันเกรียงไกร ของจักรพรรดิฉินซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ฉิน

 

          ในช่วงแรก ๆ นั้นกำแพงสร้างขึ้นในทางตะวันออกบ้าง ตะวันตกบ้าง ที่อยู่ทางใต้หรือทางทิศเหนือก็มี ไม่ได้เชื่อมต่อกันโดยตลอด และกำแพงในระยะนั้นก็ไม่ได้มีความแข็งแรงนัก ครั้นเมื่อ 221 ปีก่อนคริสตกาล จักรพรรดิฉินซีก็ได้รวมเอาหัวเมืองต่าง ๆ 6 แห่งเข้าด้วยกัน สถาปนาเป็นอาณาจักร ถือเป็นศูนย์อำนาจแห่งแรกของจีน ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นปึกแผ่น และความมั่นคงปลอดภัย โดยไม่ต้องรบราฆ่าฟันในระหว่างเผ่ากันอีกต่อไป จักรพรรดิฉินซีได้โปรดให้สร้างกำแพงทางเหนือ เชื่อมกับส่วนที่สร้างแล้วในเวลาก่อนหน้านี้ โดยการขยายให้มีความกว้างมากขึ้นจากทางตะวันตกไปทางตะวันออก รวมความยาวทั้งสิ้นมากกว่า 5,000 กิโลเมตร นอกจากนี้แล้ว ยังโปรดให้รื้อกำแพงของเมืองต่าง ๆ ทั้งป้อมต่างๆ  ด้วย เพื่อให้เมืองเหล่านั้นตั้งตัวเป็นใหญ่ได้

 

          ราชวงศ์ต่าง ๆ หลังจากราชวงศ์ฉิน ต่างก็สร้างกำแพงขึ้นใหม่ โดยการขยายให้กว้างขึ้น ในสมัยที่ก่อสร้างอย่างยิ่งใหญ่เห็นจะเป็นในราชวงศ์ฮั่น และราชวงศ์หมิง โดยเฉพาะในราชวงศ์ฮั่นนั้น มีการสร้างกำแพง  ป้อมเชิงเทิน และหอสัญญาณ เป็นระยะทางทั้งสิ้นกว่า 10,000 กิโลเมตร ครั้นมาถึงราชวงศ์ถัง ราชวงศ์เหวิน และราชวงศ์ฉิน แม้ว่าไม่ได้สร้างกำแพงอย่างใหญ่โต แต่ก็ยังบูรณะ ซ่อมแซมโดยตลอด และเมื่อถึงราชวงศ์หมิง มีการบูรณะและสร้างกำแพงเมืองเป็นครั้งใหญ่ ทำให้ตัวกำแพงมีความแข็งแรงกว่าเดิมมาก ความสูงกำแพงโดยเฉพาะประมาณ 9 เมตร และตัวป้อมสูงประมาณ 12 เมตร

 

          ในราชวงศ์หมิง กำแพงเมืองจีนเริ่มต้นที่ปากแม่น้ำยาลู ผ่านไปทางตะวันตก ถึงภูเขาฉีเหลียนซาน มีความยาวทั้งสิ้น 7,300 กิโลเมตร

 

 

           ในบริเวณที่กำแพงเมืองผ่านนั้น มีเมืองปราการอยู่ 11 เมือง เพื่อทำหน้าที่ป้องกันพื้นที่บริเวณกำแพงเมืองจีน เพื่อทำหน้าที่คอยดูแลรักษากำแพงเมือง รวมทั้งคอยทำหน้าที่ปกป้องบริเวณชายแดนไปด้วยโดยปริยาย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. เมืองเลียวตง มีฐานกำลังอยู่ที่กวงหนิง ทำหน้าที่ดูแลป้องกัน กำแพงเมืองจีน เป็นระยะทางทั้งหมดประมาณ  975 กิโลเมตร สำหรับอำนาจการปกครองพื้นที่นั้น ครอบคลุมตั้งแต่ต้านตง ใกล้แม่น้ำยาลู ไปจนถึงทางด้านตะวันตก จดด่านซานไห่กวน บุคลากรประกอบด้วยทหารและพลเรือน รวม 99,875 คน ปัจจุบันก็คือเมืองเป่ยจึ้น มณฑลเลี่ยวหนิง

 

2.  เมืองจิจึ้น มีฐานกำลังอยู่ที่ซานทุนหญิง ทำหน้าที่คอยดูแลป้องกันกำแพงเมืองจีนเป็นระยะทาง 880 กิโลเมตร ซึ่งมีอำนาจในการดูแลพื้นที่ ตั้งแต่ด่านซานไห่กวน ไปทางตะวันตก จนถึงมู่เทียนหยู มีกำลังคนทั้งสิ้น 107,813 คน ปัจจุบันคือ เมืองเฉียนฉี มณฑลเหอเป่ยนั่นเอง

 

3. เมืองซางจึ้น ฐานกำลังของเมืองซางจึ้นอยู่ที่ฉางผิง เมืองนี้มีหน้าที่เสริมกำลังป้องกันเมืองหลวงและยังต้องคอยดูแลสุสานของราชวงศ์หมิงด้วยทำหน้าที่ดูแลรักษากำแพงเมืองจีนตลอดระยะทาง 230 กิโลเมตร และปกครองพื้นที่ ตั้งแต่มู่เทียนหยูไปทางตะวันตก จนถึงด่านซิจิงวน กองกำลังทั้งหมด 19,039 คน ถือว่าเป็นเมืองเล็ก ๆ ดูแลพื้นที่น้อยกว่าและมีกำลังน้อยกว่าเมืองอื่น ๆ

 

4.  เมืองจี้นเปา เมืองนี้มีฐานกำลังอยู่ที่เปาติ้ง มีหน้าที่เสริมกำลังในการป้องกันเมืองหลวงเช่นกัน นอกจากนั้นยังต้องดูแลกำแพงเมืองจีนเป็นระยะทาง 390 กิโลเมตร สำหรับอำนาจการดูแลพื้นที่นั้น เริ่มต้นที่ด่านซิจิงกวนไปทางใต้ จนถึงด่านถูกวน กองกำลังทั้งหมด 34,697 คน

 

5.  เมืองซวนฟู ฐานกำลังของซวนฟูอยู่ที่ซวนหัว คอยดูและกำแพงเมืองจีนเป็นระยะทาง 511 กิโลเมตร และดูแลพื้นที่ตั้งแต่ด่านจูยงกวน ไปทางตะวันตก จนถึงแม่น้ำซีหยางเหอ กองกำลังทั้งหมดรวม 151,452 คน นับว่ามีบุคลากรค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ

 

6.  เมืองต้าทง เมืองนี้อยู่ในมณฑลชานสี มีฐานกำลังอยู่ที่ต้าทงนั่นเอง  ดูแลกำแพงเมืองจีนเป็นระยะทาง 335 กิโลเมตร และมีอำนาจการปกครอง ดูแลพื้นที่ตั้งแต่จึ้นโกไท ไปทางตะวันตกของภูเขายาวเจียวซาน มีกำลังคนทั้งหมด 135,778 คน ระยะทางที่รับผิดชอบไม่มากนัก

 

7.  เมืองไท่หยวน เมืองไท่หยวนหรือชานสีนี้ มีฐานกำลังอยู่ที่ด่านเปียนกวน ระยะทางของกำแพงเมืองจีนที่ต้องดูแลเป็นระยะทาง 800 กิโลเมตร มีกำลังคนทั้งหมด 57,611 คน รับผิดชอบพื้นที่จากเป่าเต๋อ บนฝั่งแม่น้ำฮวงโห ผ่านไปยังหวงยูหลิง

 

8.  เมืองหยานสุย หรือเมืองยู่หยิน มีกองกำลังอยู่ที่ซุยเต่อ แต่ต่อมาย้ายไปที่ยู่หลิน มณฑลส่านซี มีความรับผิดชอบดูแลกำแพงเมืองจีนเป็นระยะทาง 885 กิโลเมตร และมีอำนาจการปกครองพื้นที่ตั้งแต่เมืองฟูโจว ในมณฑลส่านซีไปทางตะวันตก จนถึงหัวหม่าฉี กำลังพลทั้งสิ้น 80,196 คน

 

9.  เมืองหนิงเซียะ เมืองนี้มีกำลังที่หยินฉวน รับผิดชอบดูแลกำแพงเมืองจีน เป็นระยะทางยาวถึง 1,000 กิโลเมตร และมีอำนาจการปกครองพื้นที่ตั้งแต่หยานฉี ไปทางตะวันตก จนถึงโกลัน และจิงหวนในมณฑลกานซู กำลังพลทั้งหมด 71,693 คน

 

10.  เมืองกูหยวน เมืองนี้มีศูนย์รวมกำลังอยู่ที่กูหยวน เพื่อรับผิดชอบกำแพงเมืองจีน เป็นระยะทาง 500 กิโลเมตร และมีอำนาจปกครองเริ่มตั้งแต่จิงเปียน ติดต่อกับเขตรับผิดชอบของเมืองยู่หลิน มีกองกำลังทั้งหมด 126,919 คน

 

11.  เมืองกานซู  เมืองกานซู มีกองกำลังอยู่ที่จางยี่ คอยดูแลรับผิดชอบกำแพงเมืองจีนเป็นระยะทาง 800 กิโลเมตร โดยใช้กำลังทั้งหมด 91,571 คน พร้อมกับมีอำนาจการปกครองพื้นที่จากหลานโจว ไปทางตะวันตกถึงด่านเจียยู่กวนที่เชิงเชาฉีเหลียนซาน

  

          ปัจจุบันกำแพงเมืองจีน ยังคงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศจีน โดยไม่จำเป็นต้องประชาสัมพันธ์แต่ประการใด สำหรับข้อที่ว่ากำแพงเมืองจีนเป็นสิ่งก่อสร้างแห่งเดียวบนพื้นโลก ที่สามารถมองเห็นจากยานอวกาศนั้น ไม่ได้รับการยืนยันจากผู้ที่เกี่ยวข้อง บ้างก็ว่าพีระมิดของอียิปต์ หากแต่ความเป็นจริงแล้ว บริเวณที่เป็นแม่น้ำและภูเขาเท่านั้น ที่นักบินอวกาศสามารถเห็นได้ชัดที่สุด อย่างไรก็ตามสิ่งก่อสร้างอันเกิดจากบรรพชนของจีนแห่งนี้ก็รู้จักกันแพร่หลายไปทั่วโลกอย่างน่าอัศจรรย์ใจไม่แพ้สิ่งมหัศจรรย์อื่น ๆ ของโลกเลย

ข้อมูล       :  หนังสือเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก

ภาพ         :  Beijing.gov / wonder7th

เรียบเรียง  : ละไมไทยแลนด์ / มกราคม 51

 




ละไม ต่างแดน

10 อันดับ เมืองน่าอยู่อาศัยที่สุดในโลก
เมลเบิร์น ออสเตรเลีย article
เวียนนา (Vienna) ออสเตรีย
Munich Germany
Madagascar’s Seven Wonders
สิงคโปร์ ( SINGAPORE )
เซิ่นเจิ้น (Shenzhen)
Pulau Langkawi
ลาว บ้านพี่ เมืองน้อง
Amsterdam
มาเลเซีย มนต์เสน่ห์ไม่เคยจางหาย
NEWYORK CITY
ท่องเมืองเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์
Visit Korea
ประเทศเกาหลีใต้ ตอนที่ 2
Downunder ดินแดนแห่งซีกโลกใต้
มาเก๊า MACAU
เวียดนาม ตอนที่ 2
เวียดนาม
YOKOSO JAPAN
โสมเกาหลี